Skip to content

[รีวิว] Reservoir Dogs : ขบวนปล้นไม่ถามชื่อ (1992)

เวลาที่ใช้อ่าน : 2 นาที

เพิ่งดูเรื่อง Reservoir Dogs (ขบวนปล้นไม่ถามชื่อ) บน Prime Video ไปหมาดๆ หลังจากครั้งล่าสุดดูไปเกือบๆ สิบปีที่แล้วก็ว่าได้ พอกลับมาดูรอบนี้รู้สึกว่าอิ่มเอมและนับถือผู้กำกับโดยเควนติน ทารันติโน มากขึ้นยิ่งเข้าไปอีก

เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ทริลเลอร์อาชญากรรมอันโด่งดังที่ทิ้งร่องรอยแบบลบไม่ออกไว้บนโลกแห่งภาพยนตร์ เป็นที่รู้จักจากสไตล์ที่โดดเด่นของเขา องค์ประกอบที่เป็นเอกลักษณ์ของเควนติน สามารถพบเห็นได้ไม่เพียงแค่ในเรื่องนี้เท่านั้น แต่ยังปรากฏในผลงานที่แปลกใหม่อื่นๆ ของเขาด้วย เช่น Death Proof, Pulp Fiction และเรื่องอื่นๆ ด้วยการเล่าเรื่องแบบไม่เป็นเส้นตรง มีบทสนทนาที่เฉียบคม และตัวละครที่น่าจดจำ ซึ่งเรื่อง  Reservoir Dogs นี้ได้สร้างแนวทางการเล่าเรื่องในแบบฉบับของเควนติน ทารันติโน ออกมาได้เป็นงานชิ้นเอกอันแรกออกมาจนที่เป็นยอมรับจนได้

ฉากเปิดเรื่อง: บทสนทนาในชีวิตประจำวันที่มีชีวิตชีวา

นับว่าเป็นลายเซ็นเรื่องนึงของเควนตินเลยก็ว่าได้การที่มีบทสนทนาที่เหมือนจะเป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องเลย แต่เป็นการแสดงของพลังการแสดงและบทสนทนาออกมาให้เห็น แถมยังใช้บทสนทนาที่ดูไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่องนั้นมาสะท้อนการกระทำภายใต้ความคิดของตัวละครออกมาได้ดีในภายหลัง เควนตินใช้เทคนิคแทบจะทุกเรื่องในภาพยนตร์ของเค้า

การเปิดฉากด้วยคนแปลกหน้าใส่สูทกลุ่มหนึ่ง ที่รวมทีมเตรียมปล้นร้านเพชร นั่งรายล้อมรอบโต๊ะในร้านอาหาร พูดคุยหัวข้อที่ดูเหมือนธรรมดาที่สะท้อนถึงชีวิตประจำวัน ผ่านบทสนทนาที่ดูเหมือนสบายๆ นี้ ความสามารถของเควนตินทำให้การเปิดเผยบุคลิกของตัวของตัวละครออกมาได้อย่างช่ำชอง ก่อนที่นำพาไปสู่ความดราม่าเข้มข้นที่จะเฉลยในภายหลังในตอนท้ายของเรื่อง ซึ่งฉากบนโต๊ะอาหารตอนต้นนี้ มีเรื่องสนทนากันเกี่ยวกับการให้ทิปพนักงานเสิร์ฟและวัฒนธรรมของการให้ทิปของชาวอเมริกัน ไม่เพียงแต่ทำให้อาชญากรเหล่านี้ดูมีมนุษยธรรมเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความตึงเครียดที่แอบแฝงอยู่และอุดมการณ์ที่ขัดแย้งกันซึ่งมันจะเหมือนหางเสือของเรือที่คอยขับเคลื่อนโครงเรื่องไปในทิศทางที่ต้องการ

ในช่วงเวลาที่ตัวละครพูดคุยกันเรื่องมารยาทในการให้ทิป ที่ในสังคมอเมริกันการให้ทิปเสมือนเป็นวัฒนธรรมที่ต้องให้ แม้ว่าจะได้รับการบริการที่ไม่ค่อยอยากให้ก็ตาม เราจะเห็นได้ว่าตัวละครแต่ละตัวมีมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งเผยให้เห็นถึงแรงจูงใจ ความเชื่อ และทัศนคติของพวกเขา การที่มิสเตอร์พิ้งค์ (สตีฟ บุสเซมี) ปฏิเสธการให้ทิปตามหลักการของเขา และการที่มิสเตอร์ไวท์ (ฮาร์วีย์ ไคเทล) สนับสนุนการให้ทิปเพื่อให้รางวัลแก่การทำงานหนักของชนชั้นแรงงาน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงมุมมองที่ขัดแย้งกันของตัวละคร ฉากเปิดตัวนี้ไม่เพียงแต่สร้างรากฐานของภาพยนตร์ในความเป็นจริงเท่านั้น แต่ยังเป็นฉากที่ยอดเยี่ยมสำหรับการปะทะกันของบุคลิกภาพและความเชื่อในอุดมคติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งจะปรากฏในส่วนที่เหลือของภาพยนตร์

การขับเคลื่อนด้วยตัวละคร: แอ็คชันที่ไม่มาก แต่ความเข้มข้นไม่ได้ลดลงตาม

หน้าหนังที่ดูเหมือนหนังปล้นที่ต้องมีความแอ็คชั่นล้นๆ แต่เรื่องนี้นั้นกลับไม่ใช่ขนาดนั้น เควนตินมุ่งเน้นไปที่ไดนามิกระหว่างตัวละครแทน ปล่อยให้ปฏิสัมพันธ์ของเหล่าตัวละครขับเคลื่อนภาพยนตร์เรื่องนี้ไปข้างหน้า แม้จะมีฉากแอคชั่นเพียงน้อยนิด แต่ด้วยการแสดงที่สุดยอดของเหล่านักแสดง ทำให้ยกระดับความตึงเครียดของเรื่องไม่แพ้หนังแอ็คชั่นทั่วๆ ไปเลย

สิ่งที่น่าสังเกตเป็นพิเศษคือการแสดงที่โดดเด่นของไมเคิล แมดเซนในบทมิสเตอร์บลอนด์ ซึ่งท่าทางที่ซาดิสม์และคาดเดาไม่ได้นั้น ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้รู้สึกถึงอันตรายขึ้นมาได้อย่างชัดเจน ฉากการทรมานที่ประกอบกับเพลง “Stuck in the Middle with You” ของ Stealers Wheel ที่ร่าเริงปนชวนหลอนๆ เป็นมาสเตอร์คลาสในการสร้างความลุ้นระทึกผ่านการแสดงและดนตรีที่คัดสรรมาอย่างดี

โดยเฉพาะเรื่องนี้ใช้เพลงประกอบซึ่งผสมผสานระหว่างเพลงคลาสสิกและเพลงดีๆ ที่ซ่อนอยู่แบบที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักมากนัก มาช่วยเติมเต็มฉากต่างๆ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ยกระดับประสบการณ์การชมภาพยนตร์โดยรวม รสนิยมทางดนตรีที่หลากหลายของเควนตินเป็นเครื่องหมายการค้าที่สามารถพบเห็นได้จากผลงานอื่นๆ ของเขาเช่นกัน ซึ่งช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับลายเซ็นในการกำกับของเขา

นอกนั้นในเรื่องนี้ก็มีสิ่งที่นำวิธีการเล่าเรื่องแบบใหม่ๆ เข้ามาคือ การเล่าเรื่องแบบไม่เป็นเส้นตรง ที่ทำออกมาได้ยอดเยี่ยมและน่าจดจำมาก แสดงให้เห็นถึงความสามารถของเควนตินในการลำดับเรื่องและเปิดเผยรายละเอียดที่สำคัญในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะจนคนดูรู้สึกว้าวอยู่เสมอๆ แม้แต่ในช่วงที่มีบทสนทนาอันหนักหน่วงในภาพยนตร์เรื่องนี้

และแน่นอนเควนตินมักชอบคาราวะหรือบูชาอาชีพในวงการใส่มาในงานของเขา ในเรื่องนี้ที่ตัวเอกอย่างมิสเตอร์ออเร้นจ์(ทิม รอท) ตำรวจที่ต้องแฝงตัวเป็นสายในกลุ่มอาชญากร ได้รับคำแนะนำในการแฝงเข้าไปต้องอินไปกับตัวละคร ซึ่งเค้าได้รับบทมาซ้อมมุกตลกไว้เล่าในกลุ่มพวกโจรนั้น ที่ตอนแรกไม่เข้าใจว่าทำไมต้องซ้อมบท 4 หน้าเอสี่ขนาดนั้น แต่สุดท้ายแล้วเควนตินสามารถทำออกมาให้เห็นได้อย่างแจ่งแจ้งเลยว่าทำไมตำรวจถึงต้องซ้อมบทเหมือนนักแสดง

สุดท้ายแล้วหากสนใจที่ศึกษางานของเควนติน ทารันติโน่นั้น เรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่ควรจะมาศึกษางานของเค้าอย่างมากๆ ก่อนที่งานถัดๆ ไปจะเริ่มเฉิดฉายขึ้นไปอีก แต่ลายเซ็นหลายๆ อย่างในเรื่องนี้ผู้กำกับก็ยังกลับนำไปใช้ซ้ำอีก โดยที่คนดูนั้นยังรู้สึกยินดีที่ได้รับชมมากกว่าความรู้สึกเอียนแน่ๆ เลยครับ

แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *