Skip to content

[รีวิว] Pulp Fiction : เขย่าชีพจรเกินเดือด(1994)

เวลาที่ใช้อ่าน : < 1 นาที

Pulp Fiction เขย่าชีพจรเกินเดือด หนังมาสเตอร์พีซชั้นครูจากผู้กำกับเควนติน ทารันติโน่ ในปี 1994 โดยในหนังเรื่องนี้ติดท็อป 250 ในเว็บ IMDB มาอย่างยาวนาน เคยดูเมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่น ตอนนั้นที่ดูแล้วเบื่อมากเพราะด้วยความเป็นเด็กเจอบทที่พูดเยอะๆ ชวนงงและเวิ่นเว้อ จนกลับมาดูอีกทีในช่วง 10 ปีหลังหนังออกฉาย นั่นทำให้รู้สึกถึงความสตั้นในความเทพของการทำหนังเรื่องนี้และเข้าใจของหนังเรื่องนี้ขึ้นมาเยอะทีเดียว

ในช่วงต้นปีอยากจะเปิดดูอีกรอบ เพราะห่างหายจากการดูไปหลายปี แต่ฮาร์ดดิสเจ้ากรรมก็ดันมาเสียอีกเสียนี่ แผ่น DVD ที่มีนั้น ตอนนี้เราก็ไม่มีเครื่องเล่นมันเสียแล้ว จนเปิดไปเจอใน NETFLIX ทำให้ไม่รีรอรีบเปิดดูมันเลยดีกว่า นั่นเป็นที่มาจะมาเขียนรีวิว Pulp Fiction ที่มีชื่อไทยว่า เขย่าชีพจรเกินเดือด

Pulp Fiction ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดของทศวรรษ 90 สร้างความตื่นเต้นให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างมาก ในการเป็นหนังต้นทุนต่ำที่ใช้งบในการสร้างประมาณ $8ล้านเหรียญ แต่ได้รับรายได้จากทั่วโลกราวๆ $200กว่าล้านเหรียญ รวมทั้งริเริ่มวิธีการเล่าเรื่องนี้ที่ค่อนข้างแปลกใหม่ในช่วงปีนั้น คือการดำเนินเรื่องแบบไม่ลำดับตามเวลา ซึ่งหลังจากนั้นก็ถูกนำมาใช้โดยผู้สร้างภาพยนตร์คนอื่นๆ มากมาย

แรงบันดาลใจของ “เควนติน ทารันติโน่” ในการสร้าง “Pulp Fiction”

ส่วนตัวคิดว่าแรงบันดาลใจของการสร้างนั้นคิดว่า มาจากนวนิยายสมัยก่อนช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของ Dashiell Hammett และ Raymond Chandler (Pulp Magazine ถ้าให้เปรียบก็เหมือนนิยายสั้น 5 บาทของไทย) รวมกับภาพยนตร์ในอดีตของผู้กำกับ Martin Scorsese, Howard Hawks และ Jean-Luc Godard รวมถึงความชื่นชอบในวัฒนธรรมป๊อปของอเมริกัน, ประสบการณ์ของเขาเองที่ทำงานในร้านเช่าวิดีโอ, หนังเกรดบีในอดีต(Exploitation Films), คัมภีร์ไบเบิล และ ดนตรีอเมริกัน ซึ่งทำให้เควติน ทารันติโน่สร้างบทและกำกับหนังเรื่องนี้ขึ้นมาได้

เสน่ห์ของภาพยนตร์ที่ชอบใน Pulp Fiction

จุดเด่นของหนังเรื่องนี้นอกจากการเล่าเรื่องและลำดับเรื่องอย่างชาญฉลาดที่ทำลายรูปแบบการเล่าเรื่องแบบฮอลลีวูดแบบดั้งเดิม ที่ทำให้ผู้ชมดูแล้วอยากจะรู้จะนำไปสู่ตอนจบได้ยังไงนั้น เสน่ห์อีกอย่างของภาพยนตร์เรื่องนี้ก็คือนักแสดงที่น่าทึ่งซึ่งแสดงได้ยอดเยี่ยมอย่าง John Travolta, Samuel L. Jackson, Uma Thurman และ Bruce Willis ที่เคมีของพวกเขาเข้ากันดีมาก นอกจากนี้แสดงตัวประกอบก็น่าจดจำพอๆ กัน เช่น Christopher Walken ในบทกัปตันคูนส์, Harvey Keitel ในบท The Wolf นักจัดการที่เก๋าเกมส์สุดๆ, และ Tim Roth โจรหน้าใหม่ในบทของ Pumpkin

ภาพนักแสดงจากภาพยนตร์

และเสน่ห์ที่ทำให้เราจดจำที่สุดคือ “บทสนทนา” ในเรื่องนี้แหละครับ ที่เต็มไปด้วยบทพูดที่เฉียบคม หลักแหลม และมักมีอารมณ์ขันซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ต่อมาในภายหลังซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ และหลายๆ บทพูดเหล่านี้ได้ถูกกล่าวซ้ำและอ้างอิงถึงในภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ และแม้แต่บทสนทนาในชีวิตประจำวัน เช่น ประโยคที่ว่า “Say what again. I Dare You, I double Dare You Motherfucker” ได้กลายเป็นหนึ่งในคำพูดที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์และยังคงถูกยกมาและอ้างถึงจนถึงทุกวันนี้ รวมถึงการอ้างถึงวัฒนธรรมสมัยนิยมอยู่บ่อยครั้ง

บทพูดที่ว่ามันเจ๋งมากก็คือ มันเต็มไปด้วยการหักมุมที่คาดไม่ถึง ตัวละครในภาพยนตร์มักมีบทสนทนาที่เต็มไปด้วยเรื่องน่าประหลาดใจ โต้เถียงกันอยู่เสมอด้วยคำพูดที่ชาญฉลาดอย่างมีไหวพริบ ตรงนี้มองว่าการใช้ภาษาพูดในหนังของเควนตินนั้นมีเสน่ห์ดูเป็นธรรมชาติเหมือนเราดูคนรอบตัว ในสังคมนั่งคุยกัน หรือ การดูรายการเรียลลิตี้ นั่นเลย ซึ่งไม่แปลกใจเลยที่ตอนสมัยเป็นเด็กวัยรุ่นแล้วจะไม่ชอบ เพราะคงไม่ได้สนใจบทสนทนาในภาพยนตร์เท่าไหร่นั่นเอง

นั่นทำให้คิดว่าในช่วงแต่ละเวลาที่ดูหนังเรื่อง ทำให้เราเข้าใจบทภาพยนตร์และบทสนทนาได้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นเข้าไปอีก ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมภาพยนตร์เรื่องนี้ถึงถูกขึ้นหิ้ง เป็นหนังในดวงใจของใครหลายๆ คน และอยู่ยงคงกระพันในท็อปลิสท์ 250 ใน IMDB


แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *