Skip to content

[รีวิว] Grindhouse: Death Proof โชเฟอร์บากพญายม (2007)

เวลาที่ใช้อ่าน : 3 นาที

จำได้ว่าช่วงหลังปี 2000 ชื่อของผู้กำกับเควนติน ทารันติโน่ โด่งดังกับหนัง “Kill Bill นางฟ้าซามูไร” ทั้ง 2 ภาคเป็นอย่างมากในตอนนั้น พอได้เห็นโฆษณาหนังโปรเจคใหม่ของ เควนติน ร่วมกับ โรเบิร์ท รอดริเกซ ที่คาราวะหนังเกรดบียุค 60’s – 70’s ที่สมัยก่อนมักสร้างเพื่อความบันเทิงล้วนๆ ไม่ต้องคิดมาก ซื้อตั๋วหนังทีดูได้หลายเรื่องควบเลย เป็นที่มาในการสร้างเพื่อรำลึกถึงยุคนั้นกับเรื่อง Grindhouse (2007) ซึ่งจะประกอบไปด้วยสองเรื่องหลักๆ อย่าง “Planet Terror – โคโยตี้ แข้งปืนกล” และ “Death Proof – โชเฟอร์บากพญายม” รวมถึงมีหนังโฆษณาปลอมๆ หนังตัวอย่างปลอมๆ สอดแทรกเข้ามาอีกด้วย ทำให้รู้สึกตื่นเต้นและอยากดูเป็นอย่างมาก

แต่พอเข้ามาที่ไทยในยุคนั้นอาจเกรงว่าขายหนังควบ 2 เรื่องยาว ๆ อาจจะไม่คุ้ม หรือ คนดูอาจจะไม่คุ้น ในบ้านเราก็เลยทำการฉายแยกหนังทั้งสองเรื่องนี้ออกจากกัน และถ้าจำไม่ผิดเหมือนว่า “Planet Terror – โคโยตี้ แข้งปืนกล” ของโรเบิร์ท รอดริเกซ ทำการโปรโมทในบ้านเราให้คนรู้จักกันมากกว่า “Death Proof – โชเฟอร์บากพญายม” ของเควนติน แต่ผมชอบหนังของเควนตินที่ทำให้รู้สึกตราตึงใจมากกว่า และ ในเดือนสิงหา 2022 นี้ ก็มาลง Netflix เมื่อดูแล้วก็รำลึกถึงความหลัง และ ยิ่งชอบมากขึ้นยิ่งกว่าดูครั้งแรกเสียอีกด้วยซ้ำ

โดยเนื้อเรื่องหนังไม่ได้มีอะไรซับซ้อน ดูง่ายเข้าใจง่าย แม้คนที่ไม่ชอบบทสนทนาในหนังที่เยอะจนเบื่อ จะดูข้ามๆไปก็เข้าใจได้อยู่ดี แต่กลับกันผมชอบบทสนทนาของหนังเรื่องนี้ประมาณนึง แม้บทพูดจะไม่ได้รู้สึกอิมแพคเท่า Pulp Fiction (1994) แต่ก็ยังทำออกมาได้ดูธรรมชาติได้ดี ดูแล้วนักแสดงไม่ได้แสดงอาการเขอะเขิลในการแสดงแต่อย่างใด และการพูดคุยในแต่ละครั้งนั้นจะเป็นการสอดแทรกความต้องการของผู้กำกับ/ผู้เขียนบทในการสื่อออกมาได้อย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการคาราวะวงการภาพยนตร์นั่นล่ะ แต่ในครั้งนี้เน้นมาในทีมสตั้นแมน และ ฉากขับรถไล่ล่าของหนังดังในอดีตยุค 70’s

การที่เราโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เข้าใจอะไรมากขึ้นกว่าตอนอายุน้อยนั้น เลยเข้าใจคำว่า “คาราวะ (Homage)” ที่เควนตินนำมาใส่หนังเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี คิดว่านี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ดูแล้วชอบกว่าดูครั้งแรกแน่ๆ

สิ่งที่ เควนติน ทารันติโน่ ใส่มาในหนัง Death Proof เพื่อทำการคาราวะ

ก่อนที่จะเกิดหนังเรื่อง Death Proof นั้น เควนติน เกิดไอเดียในระหว่างที่ไปเมากับ “ฌอน เพนน์” และกำลังขับรถแบบเมาๆ กลับโรงแรมนั้น เขาเอ่ยบอกกับฌอน เพนน์ว่า เขาไม่อยากตายในอุบัติเหตุรถยนต์เหมือนในฉากหนัง Pulp Fiction ที่บุชเหยียบคันเร่งมิดชนเจ้าพ่อมาเซลลัส วอลเลซ จนข้ามแยกไปชนกับรถที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่สวนมาพอดีแบบนั้น ทำให้อยากได้รถที่มีการปกป้องที่ดีหน่อย กำลังมองๆ Volvo ไว้ (เป็นยี่ห้อที่ขึ้นชื่อเรื่องระบบความปลอดภัย) แต่ฌอน เพนน์กลับตอบว่า

“นายไปหารถรุ่นไหนก็ได้ แล้วเอาไปให้ทีมสตั้นแมนพร้อมเงินอีกสักหมื่นเหรียญ เดี๋ยวพวกนั้นก็จัดการดัดแปลงรถให้นายพร้อมระบบกันตาย(Death Proof) ให้ได้เลย”

หลังจากนั้นอีกหลายปีคำว่า “Death Proof” และ รถที่มีระบบกันตายติดอยู่ในใจเควนตินมาตลอด จนกระทั่งมาลงเอยในโปรเจค Grindhouse กับ โรเบิร์ท รอดริเกซ นั่นแหละ

แต่ชื่อภาพยนตร์ในตอนแรกก็ไม่ได้ใช้ชื่อ “Death Proof” หรอกนะ ใช้ชื่อว่า “Quentin Tarantino’s Thunder Bolt” ในตอนที่หนังเริ่มต้นนั้น ระหว่างช่วงต้นเครดิตเราจะเห็นโลโก้ชื่อเดิมนี้ในช่วงวินาทีเดียวแล้วหายไปถึงจะขึ้นชื่อและโลโก้ “Death Proof” ที่หลุดธีมเอามากๆ มาให้เห็น โดยสิ่งที่เควนตินทำแบบนี้ก็เพราะในช่วงยุคก่อนนั้น ชื่อหนังที่เข้าฉายกับชื่อในหนังจริงๆ มักจะไม่ตรงกันอยู่บ่อยๆ โดยชื่อหนังที่ถูกเปลี่ยนแปลงจะถูกแทนที่ด้วยไตเติ้ลการ์ดสีดำๆ เหมือนอย่างที่เราเห็นใน Death Proof นั่นแหละครับ ส่วนโลโก้ Thunder Bolt นั้น ลวดลายละม้ายคล้ายคลึงกับภาพยนตร์แข่งขันรถยนต์ยุค 60’s เรื่อง Thunder Alley (1967)

และการจงใจกล่าวถึงภาพยนตร์การขับรถแข่ง ขับรถหนีการไล่ล่าการจับกุมที่เป็นแรงบันดาลใจในอดีตจากหลายๆ เรื่องจนออกมาเป็น Death Proof อาทิ Dirty Mary Crazy Larry (1974), White Line Fever (1975) และ Vanishing Point (1971) โดยเฉพาะเรื่องหลังนั้น เป็นเหตุให้โซอี้ต้องการจะซื้อรถดอดจ์ชาแลนจ์เจอร์ ปี 1970 สีขาวในตำนานให้เหมือนในภาพยนตร์กันเลย

เมื่อพูดถึงเรื่องรถยนต์แล้ว รถของ “สตั้นแมน ไมค์” ทั้งสองคันนั้น ก็สร้างความเชื่อมโยงเพื่อคาราวะให้กับหนังที่มีฉากขับรถไล่ล่าในตำนานจาก 2 เรื่องคือ ป้ายทะเบียนรถ “JJZ-109” บน Chevy Nova ปี 70 ซึ่งมาจากหนังเรื่อง Bullitt (1968) และ “938-DAN” บน Dodge Charger ปี70 ซึ่งมาจากเรื่อง Dirty Mary Crazy Larry (1974)

และตุ๊กตาเป็ดเบ่งกล้ามตรงกระโปรงหน้ารถของ “สตั้นแมน ไมค์” นั้น ก็นำมาจากเรื่อง “Convoy (1978) – คอนวอย สิงห์รถบรรทุก” ที่ค่อนข้างโด่งดังในบ้านเราในอดีตเหมือนกัน โดยตัวเป็ดเบ่งกล้ามนี้จะอยู่หน้ารถบรรทุกของพระเอก Martin Penwald ฉายา “Rubber Duck” ที่แสดงโดย Kris Kristofferson นักร้องแนวคันทรี่ และ นักแสดงจาก A Star Is Born (1976), Heaven’s Gate (1980) และไตรภาคอย่าง Blade (1998–2004)

รวมถึงทำการคาราวะคาแรคเตอร์ของหนังตัวเองอย่าง Kill Bill อีกด้วย โดยรถของคิมมีสีเหลืองคาดดำเฉดสีเดียวกับชุดของตัวละคร The Bride (The Bride ก็ทริบิ้วท์ Bruce Lee อีกที) และยังใช้รถรุ่นเดียวกับหนังเรื่อง Gone in 60 Seconds (เว่อร์ชั่น 1974 ที่ไม่ใช่เวอร์ชั่น แองเจเลน่า โจลี่นะ) คือรถ Ford Mustang Mach I ปี 1973 ที่มีโค้ดเนมว่า “Eleanor”

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหนังเรื่องนี้ส่วนใหญ่แล้ว ไม่ได้ทำแค่เอามันเท่านั้น มีความลึกซึ้งอยู่ในรายละเอียดหลายๆ ส่วนอีกมาก อย่างเช่น แจ็คเก็ตและนาฬิกาของสตั้นแมน ไมค์ , ดนตรีประกอบ, ซีนบางซีนที่จงใจทำตามภาพยนตร์ในอดีตอีกหลายๆ เรื่อง หรือแม้กระทั่งหนังของเควนตินเอง เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วทำให้รู้สึกชอบการทำหนังของเควนตินเรื่องนี้ขึ้นมาอย่างมาก แต่ถ้าไม่สนใจในส่วนพวกนี้ก็ยังเข้าใจได้ว่าหนังได้ทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีอยู่ดีอีกนั่นแหละครับ


แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *