Skip to content

[รีวิว] Django Unchained : จังโก้ โคตรคนแดนเถื่อน (2012)

เวลาที่ใช้อ่าน : 2 นาที

“Django Unchained” จังโก้ โคตรคนแดนเถื่อน เพิ่งดูอีกรอบนึงไป หลังจากที่ดูครั้งแรกช่วงปี 2013 และก็ดูแบบผ่านๆ ตาบ้างนิดๆ หน่อยๆ เป็นเรื่องนึงของเควนตินที่ดูซ้ำน้อยมากเรื่องนึง แต่การที่ดูครั้งนี้ใน Netflix มันเป็นอะไรที่สนุกขึ้นอีกมาก! คงเพราะด้วยวัยวุฒิเพิ่มขึ้นมั้ง 😄

ผู้กำกับ เควนติน แทแรนติโน ตอกย้ำในการสร้างเรื่องนี้เพื่อคาราวะต่อภาพยนตร์แนวคาวบอยตะวันตก Spaghetti Western ช่วงยุค ‘60s ซึ่งภาพยนตร์ตะวันตกคลาสสิกเหล่านั้นผลิตและกำกับโดยชาวอิตาลีเป็นส่วนใหญ่อย่าง Sergio Leone และ Sergio Corbucci ที่สร้างโลกตะวันตกอเมริกากันในอิตาลี แถมยังพูดเป็นภาษาอิตาเลี่ยนอีกต่างหาก ซึ่งธีมของหนังส่วนใหญ่นั้น เป็นเรื่องเกี่ยวกับการปลดปล่อยและอิสระภาพที่โดนกดขี่ในอเมริกา แต่ดันเป็นคนอิตาเลี่ยนสร้างซะงั้น และนั่นเมื่อเควนตินที่เป็นคนอเมริกันจะสร้างหนังแนวนี้บ้าง เค้าจะปลดปล่อยอะไรได้ล่ะถ้าไม่ใช่ทาส เราเลยได้เห็นไอ้มืดขี่ม้าเป็นคาวบอย!

Jamie Foxx รับบทเป็น Django (จังโก้ ที่ไม่ต้องออกเสียงตัว D) ทาสที่ได้รับการปลดปล่อยโดย Dr. King Schultz (Christoph Waltz) นักล่าค่าหัวที่ย้ายถิ่นมาจากเยอรมัน การแสดงของเคมีทั้งคู่นั้นช่างเข้ากันดีอย่างไม่น่าเชื่อ และดูน่าเกรงขาม และเดิมที “วิล สมิธ” ได้รับการพิจารณาให้รับบท Django แต่เขาปฏิเสธไปเพราะอยากได้บทที่มันดูโรแมนติกมากกว่าป่าเถื่อน

Leonardo DiCaprio รับบทเป็น Calvin Candie เจ้าของไร่ “แคนดี้แลนด์” ที่ชั่วร้ายและแฝงไปด้วยความมีเสน่ห์ในแบบฉบับเศรษฐีที่กวนเบื้องล่างได้ดีจริงๆ แล้วก็มีตัวละครของสตีเฟน(Samuel L. Jackson) หัวหน้าทาสที่ได้รับความไว้วางใจจากคาลวิน ตัวละครของสตีเฟนนี้ นำความซับซ้อนที่ทำให้เขาดูทั้งน่ารังเกียจและน่าสมเพชออกมาได้ดีจริงๆ

ซึ่งตัวละครเหล่านี้ทารันติโนใช้ความคิดอย่างมากในการสร้าง แต่ละคนมีแรงจูงใจและข้อบกพร่องของตัวเองซึ่งทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนจริงและดูน่าสนใจ โดยเฉพาะดร.ชูลทส์นั้นดูมีลักษณะ Antihero (ตัวเอกปฏิลักษณ์) ที่ชัดเจน ในขณะที่ภาพยนตร์มีความรุนแรงและเข้มข้น แต่ก็มีช่วงเวลาแห่งอารมณ์ขันและความอ่อนโยนเสริมเข้ามา โดยตอนท้ายนั้นยิงกันเดือดให้สมกับเป็นหนังคาวบอยจริงๆ ซึ่งการดวลปืนแบบหนังคาวบอยยุคสปาเก็ตตี้แบบของเลโอเน่นั้น เป็นการเสริมความเวอร์ๆเหมือนในหนังสือการ์ตูนเข้ามา ทำให้ดูน่าตื่นเต้นมากขึ้น รวมถึงความหฤโหดแบบหนังของคอร์บุชชี่ด้วยนั้น เควนตินนำมาใส่ในภาพยนตร์นี้แทบหมดทั้งสิ้น

เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้นั้น ก็เป็นผลงานมาสเตอร์พีซเลยทีเดียว ที่แต่งโดย Ennio Morricone ผู้ซึ่งแต่งเพลงให้กับยุคคลาสสิคของ Spaghetti Westerns มาหลายเพลง มีเพลงที่น่าสนใจตั้งแต่เพลงธีม “Django” ที่ดูหลอนๆ เหมือนมาจากความทรงจำของหนังคาวบอยในอดีตไปจนถึงเพลง “Unchained (The Payback/Untouchable)” ที่ดูมีชีวิตชีวามากขึ้นหน่อย และเพลง “Ancora Qui” เขียนขึ้นสำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้โดยเฉพาะ ขับร้องโดย Elisa Toffoli นักร้องชาวอิตาลี การเปลี่ยนดนตรีแต่ละเพลงที่ดูทันสมัยกว่ายุคคาวบอยในเรื่อง ช่วยเติมเต็มอรรถรสได้อย่างเซอร์ไพรซ์อย่างบอกไม่ถูก

สิ่งที่น่าสนใจ

  • หนังเรื่องนี้กวาดรางวัลไปมากกว่า 58 รางวัลและรับการเสนอเข้าชิงถึง 158 รางวัล โดยได้รางวัลใหญ่อย่างออสก้ามาถึง 2 รางวัล คือ นักแสดงสมทบยอดเยี่ยม (Christoph Waltz) และ บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (Quentin Tarantino)
  • ในเรื่องถูกเซ็ตปีไว้ที่ปี 1858 แต่ระเบิดไดนาไมต์ถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 1867 (โดยอัลเฟรด โนเบล ชาวสวีเดน)
  • และในหนังมีซีนเล่นเพลง “Für Elise” ของบีโธเฟน แม้ว่าเพลงจะถูกแต่งในปี 1810 แต่กว่าจะถูกปล่อยออกมาได้ก็ปี 1867
  • Calvin Candie เปรียบเทียบทาสกับตุ๊กตาหมีเท็ดดี้แบร์ แม้ว่าตุ๊กตาหมีจะยังไม่มีจนกว่าจะถึงในสมัยที่ Theodore Roosevelt เป็นประธานาธิบดี ดังนั้นชื่อ “เท็ดดี้” จึงน่าแปลกที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ที่อยู่ในช่วงปี 1858 แต่ว่าปีนี้ก็เป็นปีเกิดของประธานาธิบดีธีโอดอร์ โรสเวลต์ ที่ผู้คนนิยมเรียกเขาว่า เท็ดดี้ หรือตัวย่อ T.R. ซึ่งโรสเวลต์นั้นคือแรงบรรดาลใจให้ก่อให้เกิดตุ๊กตาหมีอย่าง หมีเท็ดดี้
  • สตีเฟน (ซามูเอล แอล. แจ็กสัน) ใช้คำว่า “motherfucker” สี่ครั้งตลอดทั้งเรื่อง นี่เป็นความผิดปกติทางภาษา เนื่องจากคำนี้ไม่มีอยู่จนกระทั่งยุคสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (พจนานุกรมภาษาอังกฤษของอ็อกซ์ฟอร์ดแสดงรายการที่ใช้ครั้งแรกในปี 1918)
  • แว่นกันแดดแบบที่เห็นในหนัง กว่าจะออกมาสู่ตลาดได้ก็ช่วงศตวรรษที่ 20 (ประมาณปี 1929 โน่นเลย)
  • เมือง Lubbock รัฐเท็กซัส ก่อตั้งในปี 1876
  • และแน่นอนปืนที่มีปลอกกระสุนแบบโลหะ แต่ในช่วงปีนั้นยังใช้กระสุนแบบกระดาษอัดด้วยดินปืนอยู่เลย

จริงๆ มีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ ที่ไม่ตรงช่วงยุคในหนัง แต่นั่นแหละ แค่ไอ้มืดขี่ม้าได้ก็น่าจะถือว่ามหัศจรรย์แล้วแหละ คงเป็นความตั้งใจของเควนตินเองด้วย ที่แม้ว่าจะเซ็ตปีในเรื่องเป็น 1858 แต่ความเป็นจริงในหนังไม่ได้สนใจอะไรด้วยซ้ำ แค่อยากทำออกมาตามแบบของตัวเอง เพื่อให้ได้แบบหนังคาวบอยตะวันตกยุคสปาเก็ตตี้เท่านั้นเอง และผู้ที่ชื่นชมเกมส์อย่าง Red Dead Redemption 2 ก็ยิ่งไม่น่าพลาด เพราะคอสตูม แอ๊คชั่น และฉากหลังในหนังกับในเกมส์นี่ออกมาได้คล้ายกันมาก แม้ว่าจะเป็นคนละช่วงเวลากันก็ตาม

ที่มา : imdb.com

แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *