Skip to content

[รีวิว] ลุงบุญมีระลึกชาติ : Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives (2010)

เวลาที่ใช้อ่าน : 2 นาที

ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) ในช่วงปี 2010/2553 ในตอนนั้นได้เห็นข่าวว่าหนังเรื่องนี้จาก ผกก. ชาวไทย “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ได้รับรางวัลรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีนั้น ทำให้รู้สึกว่าอยากดูมากเพราะรางวัลนี้ก็พอเข้าใจได้ว่าไม่ได้มาได้ง่ายๆ จนมีข่าวว่าจะมีฉายที่ ดิ เอ็มโพเรี่ยม จำได้เลยว่ารีบจองไปดูทันที แต่พอดูจบแล้วมันก็มีส่วนดีที่ชอบของหนัง และก็มีส่วนที่อะไรวะของหนังอยู่ด้วย

พอกลับมาฉายใน NETFLIX หลังจากที่ดูครั้งไปแรกสิบปี ก็เลยลองดูอีกครั้งก็พบว่า รู้สึกชอบมากขึ้นกว่าครั้งแรกที่ดู แต่ก็ไม่ได้รู้สึกประทับใจเป็นหนังขึ้นหิ้งในใจอะไรขนาดนั้นหรอกนะ

ลุงบุญมีระลึกชาติ เป็นหนังที่เดินเรื่องช้าๆ ชวนคิด พาสำรวจเรื่องราวของชีวิต ความตาย และการกลับชาติมาเกิด แม้ว่าแนวทางการเล่าเรื่องที่แหวกแนวของเรื่องนี้อาจไม่ใช่สำหรับทุกคนที่จะชอบ แต่ก็นับว่าเป็นผลงานที่มีเอกลักษณ์ของเจ้ยและมอบประสบการณ์การรับชมภาพยนตร์ที่แตกต่างออกไปจากหนังไทยหรือเทศทั่วๆ ไปในตลาด

เรื่องราวจะกล่าวถึงลุงบุญมีที่อาศัยอยู่ในชนบทของประเทศไทยและป่วยเป็นโรคไตวาย ขณะที่ลุงบุญมีเตรียมพร้อมสำหรับความตายที่กำลังจะมาถึงนั้น ลุงแกก็ได้พบกับวิญญาณของภรรยาที่ตายไปแล้วและลูกชายซึ่งอยู่ในร่างของลิง โดยตลอดทั้งเรื่องลุงบุญก็จะหวนนึกถึงชีวิตและประสบการณ์ในอดีตของเขา ซึ่งนำไปสู่ตอนจบที่เหนือธรรมชาติและลึกลับซับซ้อน

ทำไมเรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” ถึงได้รางวัล?

ส่วนตัวคิดว่าเหตุผลที่ทำให้ได้รับรางวัลก็คือการท้าทายรูปแบบการเล่าเรื่องที่ต่างออกไปในแบบเดิมๆ ภาพยนตร์มีเรื่องเรื่องแยกส่วนออกมาและไม่เล่าเป็นเชิงตรงๆ เนื้อก็กระโดดไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบัน, ความเป็นจริงและแฟนตาซี โดยไร้โครงสร้างการเล่าเรื่องที่ชัดเจน พร้อมด้วยบรรยากาศที่เหมือนอยู่ในฝันและเหนือจริงคือสิ่งที่ทำให้มันน่าจดจำและน่าหลงใหล แม้วิธีการที่ทำดูแหวกแนวนี้อาจทำให้ผู้ชมบางคนรู้สึกหงุดหงิด กับการที่คาดหวังพล็อตของเรื่องหรือการพัฒนาตัวละครที่ชัดเจนแบบหนังที่เคยดูมา แต่นั้นก็คิดว่าใน ณ เวลานั้นมันคงเป็นอะไรที่แหวกแนวออกไปมากๆ ล่ะมั้ง ยิ่งอยู่ในช่วงที่ฝรั่งเริ่มเปิดรับวัฒนธรรม ได้เห็นสิ่งแปลกใหม่ ก็เลยคิดว่าเป็นการมอบคุณค่าให้ ซึ่งคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็เช่นกัน ที่เปิดกว้างรับกับวัฒนธรรมชนบท ภาษาอีสาน ความเชื่อเรื่องผีสางและผลกรรม รวมถึงสัญญะเชิงประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ทางอุดมการณ์ทางการเมืองในอดีต

วิเคราะห์เนื้อเรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” (แบบเล็กๆ น้อยๆ)

ในส่วนเนื้อเรื่องของภาพยนตร์จะแบ่งออกเป็น 6 ส่วน โดยแต่ละส่วนนั้นจะพาไปสำรวจแง่มุมต่างๆ ของชีวิตลุงบุญมีและโลกวิญญาณรอบตัวของลุงแก 

ในส่วนแรก เราได้เห็นความเจ็บป่วยของลุงบุญมีและการตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตวาระสุดท้ายที่บ้านไร่ในชนบท

ส่วนที่สอง เราได้รับการแนะนำให้รู้จักกับ “ฮวย” ผีของภรรยาที่ตายไปแล้วซึ่งมากลับมาเยี่ยมลุงบุญมี

ส่วนที่สาม บุญส่ง ลูกชายของแกที่หายสาบสูญไปนานซึ่งมาในร่างของลิง

ใน 3 ส่วนนี้ เป็นส่วนที่ชอบและคิดว่าโอเคที่สุดแล้ว เพราะมันเป็นการผสมผสานเนื้อเรื่องแบบไทยๆ เรื่องผีสาง รวมถึง การใช้ลิงเป็นตัวแทนของคอมมิวนิสต์ ซึ่งในอดีตนั้น ลุงบุญมีน่าจะมีเจ้าหน้าที่ในการปราบปรามกลุ่มนี้ แสดงให้เป็นความเจ็บปวดที่ซ้อนไว้ในใจ ที่เรารบราฆ่าฟันเพียงเพราะความเชื่อที่ต่างกันเท่านั้นเอง

ส่วนที่สี่ อยู่ดีๆ ก็พาอ้อมไปสู่เรื่องราวที่ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องซะงั้น โดยมีเจ้าหญิงอัปลักษณ์ไปมีเพศสัมพันธ์กับปลาดุก ซึ่งการกระทำนี้มันชวนให้รู้สึกแปลกประหลาดและสับสนเป็นอย่างมาก และยังคิดไม่ออกว่าว่ามันเกี่ยวข้องกับส่วนที่เหลือของภาพยนตร์อย่างไร แต่ก็เดาว่าคงทำหน้าที่เป็นอุปมาอุปไมยสำหรับความเชื่อมโยงกันของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ในความคิดที่ว่ามนุษย์และสัตว์นั้นไม่ได้แตกต่างกันมากนัก มีความต้องการความสุขกันทั้งนั้นล่ะมั้ง

ส่วนที่ห้า กลับมาพาเราไปที่ถ้ำแห่งในช่วงวาระสุดท้ายของลุง แสดงให้เห็นที่ต้องการตอกย้ำเรื่องด้านจิตใจ,จิตวิญญาณ ในห้วงเวลาแห่งความตายนั้น ภาพทุกอย่างจะถูกฉายกลับเข้ามาในความคิดอย่างรวดเร็วว่าในอดีตเคยทำอะไรไว้ นำไปสู่วัฏจักรแห่งชีวิตและความตายที่เป็นนิรันดร์

และในส่วนสุดท้าย ไม่มีลุงบุญมีอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการจัดการหลังงานศพ โดยโต้งบวชหน้าไฟและทนนอนที่วัดไม่ได้ เลยมาหาป้าเจนกับรุ่งที่โรงแรม ในตอนแรกก็เข้าใจว่าเป็นการแซะความเป็นวัดในไทย เช่น พระควรจะอยู่ที่สงบๆ เพื่อสงบจิตใจ แต่โต้งนั้นก็ทำไม่ได้ และพระลูกวัดคนอื่นก็ทำไม่ได้เช่นกัน เลยมีคอมพิวเตอร์มาเล่น Hi-5 เป็นต้น แต่อยู่ดีๆ ที่โต้งสลัดผ้าเหลืองออก ก็พบว่าโต้งกับป้าเจน เห็นร่างตัวเองนั่งดูทีวียกเว้นรุ่งคนเดียว ที่ไม่ได้แยกร่างออกมา ในส่วนการแยกร่างจนไปจบที่ร้านคาราโอเกะของโต้งกับป้าเจน พร้อมด้วยเพลง Acrophobia (กลัวความสูง) ของ Penguin Villa นั้น ตรงนี้ไม่เข้าใจจริงๆ ตีความหมายไม่ออกว่า ผกก. ต้องการจะสืออะไรออกมา เพราะที่มาที่ไปมันไม่ชัดเจนจนวิเคราะห์ออกมาไม่ได้เลย

ตัวอย่างภาพยนตร์ “ลุงบุญมี”


แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *