Skip to content

Shy Guy : Diana King เพลงสำเนียงจาไมก้าในแนวเร้กเก้สู่ความเมนสตรีม

เวลาที่ใช้อ่าน : 2 นาที

ไม่กี่วันก่อนเห็นไวรัลเพลงของ “เปิ้ล ไอริน” ชื่อเพลง MONEY (ฟังแล้วรวย) ที่มีท่อนร้องคนเอาไปเล่นกันในโซเชียลว่า

เงินเท่านั้นที่ Knock Everything

ธนบัตรเท่านั้น ที่ทำให้เราได้โบยบิน

ขับพอร์เช่ แล้วมันฟิน ฟิน ฟิน

เดิน Red Carpet เข้าปาร์ตี้ที่มีแต่ธีม

แต่พอถึงท่อนที่ร้อง Money, Money, Money นั้น อยู่ดีๆ ก็นึกถึงเพลง Shy Guy ของ Diana King ในยุค 90s ไม่ได้หมายถึงว่าลอกเพลงนี้นะครับ แค่มันมีห้วงให้ย้อนกลับไปนึกถึงการร้องท่อนนี้ที่รู้สึกคล้ายๆ กันเฉยๆ

เพลง Shy Guy เป็นเพลงแนว Reggae Fusion ที่ดังมากๆ เพลงนึง ส่วนนึงก็มาจากหนัง Bad Boys(1995) ที่ช่วยกันส่งเสริมให้แนวเพลง Reggae Fusion ไปสู่ความเป็น Mainstream ได้อีกเพลงนึง ที่ติดชาร์ท TOP10 มากกว่า 15 ประเทศ

ในช่วงยุคนั้นเพลงเร้กเก้ป็นที่นิยมก็พอประมาณ ศิลปินแนวนี้ยุค 60s – 80s ก็ปูทางไว้เยอะอยู่ แต่ถ้าให้ไต่เต้าขึ้น Billboard เป็นที่นิยมในวงกว้างหรือว่าระดับ Mainstream ก็ยังคงน้อยอยู่ แต่เพลง Shy Guy ก็ถือว่ามาได้ไกลอยู่ สูงสุดอันดับที่ 13 ของ Billboard HOT 100 ในปี 1995

ตามความสำเร็จศิลปินแนวเดียวกันในช่วงนั้นอย่าง UB40 เพลง “Can’t Help Falling In Love” ติดอันดับ 1 อยู่อันดับนี้ 7 สัปดาห์ และตามด้วย SNOW ที่เพลง “Informer” ที่ขึ้นอันดับ 1  ถึง 7 สัปดาห์เหมือนกันในปี 1993 และ เพลง “Here Comes The Hotstepper” ของศิลปิน Ini Kamoze ติดอันดับ 1 ถึง 2 สัปดาห์ ในปี 1994 (ปล. UB40 ประสบความสำเร็จมาแล้วกับเพลง Red Red Wine ในปี 1984)

ก็นับได้ว่าเป็นกลุ่มศิลปินที่นำแนวเพลงเร้กเก้มาผสมผสานความกับดนตรีแนวอื่นๆ รวมถึงสำเนียงการร้องแบบจาไมก้าให้มาเป็นที่ยอมรับมากขึ้นในวงกว้างเลยทีเดียว (สำเนียงจาไมก้า : Jamaican Patois ในช่วงยุคเมก้าแดนซ์ฮิตถล่มในเมืองไทย บางคนจะจำสลับว่าเป็น “แร็พแขก” เหมือนเพลง “Gur Nalo Ishq Mitha” ของศิลปิน Malkit Singh ในภาษาปันจาบ) และยังมีศิลปินอีกหลายๆ คนออกงานเพลงแนวเดียวกันและโดนใจคนฟังจนมาถึงปัจจุบัน เช่น ในช่วงยุค 2000s Shaggy มีเพลง “It Wasn’t Me” และ “Angel” Sean Paul นี่ก็มีหลายเพลง ส่วนปัจจุบันช่วง 2010s ก็มีวงจากแคนาดา Magic! ที่มีเพลงฮิตอย่าง Rude

พอพูดถึง Mainstream ก็หวนไปคิดถึงโพสต์นึงจากเพจ “ฟังไปเรื่อย ดูไปเรื่อย” ที่เจ้าของเพจน่าจะดีใจและตื่นเต้นที่เพลงร็อคได้กลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้งจากเพลง “ทรงอย่างแบด” ของ เปเปอร์เพลน เลยโพสต์ถึงวงที่ทำให้ปลุกกระแสเพลงร็อคขึ้นมาวงไหนบ้าง

ในฐานะเราก็ฟังเพลงร็อคมาตั้งแต่เด็ก ก็เข้าไปคอมเมนท์ตามความเห็นของเราล่ะ แน่นอนก็จะมีติ่งของแต่ละวงมาแย้งบ้าง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาคนเรามันชอบไม่เหมือนกัน แต่ถ้าจากโพสท์นั้นถ้าให้เลือก 3 วงที่เราฟังเยอะที่สุดในวัยนั้นก็คงเป็น โมเดิร์นด็อก, หินเหล็กไฟ และ ซิลลี่ฟูลส์

ส่วน คาราบาว และ โลโซ ในช่วงที่ออกนั้น เราค่อนข้างแอนตี้ในความที่มันอยู่ในกระแสหลักเกินไปเสียด้วยซ้ำ แต่พอโตขึ้นเราเปิดใจฟังเพลงมากขึ้นก็ยอมรับได้มากขึ้นเอง การแอนตี้เพลงเดียวนี้เกือบเป็นศูนย์แล้ว ฟังได้ทุกแนวแหละถ้ามันเพราะอะนะ

และด้วยคำว่า Mainstream ที่ผ่านมา มักจะคุ้นชินจากชาร์ทต่างๆ ไม่ว่าจะจาก Billboard Chart, MTV Chart, Channel V รายการทีวีของค่ายเพลงที่แบ่งชาร์ทแบบค่ายใครค่ายมันและไหนจากคลื่นวิทยุต่างๆ อีก ที่ช่วงสมัยนั้นอินเตอร์เนตยังไม่แพร่หลาย ไม่มีตัวเลขดาต้ามาชี้วัดจำนวนผู้ฟังได้เหมือน YouTube หรือ Spotify นั่นคือความเข้าใจคำว่า Mainstream ของเราที่ผ่านๆ มา ที่มักจะเห็นแบ่งย่อยของแนวเพลง (Genre) เช่น Mainstream Rock, Alternative Rock, Metal Rock, Indie Rock หรือ Mainstream R&B/Hip-Hop เป็นต้น

แต่แล้วก็มีคอนเมนท์นึงมา “ตอบกลับ” ที่ดูเหมือนว่าจะไปอีกทางนึง ด้วยความที่ไม่อยากต่อความยาวสาวความยืดในโพสต์นั้น เลยได้แต่ขอบคุณเค้าไปเฉยๆ

“Mainstream หมายถึงกระแสหลักวงดนตรีที่ส่งผลต่อวงการดนตรีและมีอิทธิพลต่อแฟชั่นเสื้อผ้าหน้าผมการแสดงออกของแต่ละ Gen แบบถล่มทลายครับเรียกว่า Teenager ของแต่ละ Gen ก็ว่าได้ครับ ถ้ามองว่าแค่โลโซกับคาราบาวคงไม่ใช่เลยครับ อันนี้แบบมาตรฐานโลกของคำว่า Mainstream น่ะครับไม่ใช่เฉพาะบ้านเรา Platform มันจะประมาณนี้ครับ”

ด้วยความที่เราเคยโดนข้อมูลในอินเตอร์เนตล้างความเชื่ออะไรเราไปหลายๆ อย่างเลยต้องไปหาคำจำกัดความจากที่ต่างๆ รวมถึงถามใน ChatGPT แต่สุดท้ายก็ได้คำตอบมาเหมือนที่เราเข้าใจนั่นแหละ และคิดว่าคุณ Krisada Kongpan น่าจะจำปนกับ Pop Culture เป็นแน่ๆ เลยครับ แต่เอาจริงส่วนตัวก็คิดว่า Mainstream Music ก็เป็นส่วนย่อย(subset)ของ Pop Culture แหละมันก็อาจปนๆ ก็กันได้


แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *