บทความนี้จะพาไปรู้จักที่มาชื่อของสแตนด์ใน โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ภาค Golden Wind : สายลมทองคำ กันครับ เนื่องจากภาคนี้ถูกเช็ตในอิตาลี ชื่อตัวละครส่วนใหญ่จึงจะเป็นภาษาอิตาลีที่ไม่น่าจะมีใครใช้จริงเท่าไหร่ แต่ชื่อของสแตนด์ก็ยังคงอ้างอิงมาจากวงการดนตรีโดยเฉพาะเพลงร็อคอยู่เหมือนเดิม แต่บางตัวละครการแปลซับไตเติ้ลจาก Netflix อาจจะเพี้ยนๆ เพราะเลี่ยงลิขสิทธิ์นั่นแหละครับ แต่เดี๋ยวพาไปรู้จักที่มากัน
มีโพสท์สแตนด์ภาคอื่นๆ อีก คลิกด้านล่างได้เลยครับ 👇👇👇
โจรูโน่ โจบาน่า (Giorno Giovanna / ジョルノ・ジョバァーナ)
สแตนด์ : โกลด์ เอ็กซ์พีเรียนซ์ (Gold Experience)
ชื่อตัวละครหลักในภาษาไทยและญี่ปุ่นยังคงอ้างอิงความเป็นตระกูลโจสตาร์อยู่ และไปพ้องเสียงกับภาษาอิตาเลี่ยน Giorno พอดี ซึ่งแปลว่า “วัน” ส่วนนามสกุลนั้นพ้องเสียง Giovanna (โจวานนา) ซึ่งแปลได้เปรียบเสมือนชื่อของผู้หญิง อย่าง “Jane” ที่เป็นชื่อผู้หญิงที่นิยมในภาษาอังกฤษที่ตรงข้ามกับ “John” หรือจะให้เปรียบเทียบเป็นชื่อไทยก็ประมาณ “สมหญิง” ที่ตรงข้ามกับ “สมชาย” ในภาษาไทยแหละครับ แต่ชื่อสแตนด์นั้นมาจากอัลบั้ม “The Gold Experience” ในปี 1995 ของศิลปินอเมริกันที่มากความสามารถ “Prince” ที่อาจารย์ฮิโรฮิโกะ อารากินั้นน่าจะชื่นชอบคาแรคเตอร์ของปริ้นซ์จนนำไปสร้างตัวละครแอ่นๆ เสื้อผ้าดูเว่อร์วังในโจโจ้ล่ะ เพลงเด่นๆ ในอัลบั้มมีเพลงอย่าง “Pussy Control”, “Shhh”, “👁 Hate U”, “Gold”,”Dolphin” และ “The Most Beautiful Girl in the World”
ส่วนสแตนด์ร่าง Gold Experience Requiem นั้นคำว่า Requiem ที่ต่อท้ายนำมาจากเพลงของ Mozart
โบรโน่ บูจาราตี้ (Bruno Bucciarati / ブローノ・ブチャラティ)
สแตนด์ : สติ๊กกี้ ฟิงเกอร์ส (Sticky Fingers)
ชื่อ “บูจาราตี้” นั้นนำมาจากขนมคุ๊กกี้ Cuccidati ที่มักจะทำกันตามสูตรดั้งเดิมของชาวอิตาเลี่ยน และชื่อของคุ๊กกี้นี้ ก็ยังสามารถเรียก buccellati (บูเชลลาติ) ได้เหมือนกัน ส่วนชื่อสแตนด์ใน NETFLIX นั้นซับไทยเรียกเป็น “Zipper Man” ตามพลังของสแตนด์ แต่เสียงที่พากษ์ญี่ปุ่นนั้นออกเสียงดั้งเดิม Sticky Fingers ซึ่งชื่อนี้นำมาจากอัลบั้มของวง the Rolling Stones ในปี 1971 ซึ่งเป็นอัลบั้มคลาสสิคอัลบั้มนึงของวง ที่หน้าปกเป็นรูปกางเกงยีนส์พร้อมซิปด้านหน้าดันโดดเด่นซึ่งคงเป็นที่มาของสแตนด์ ในอัลบั้มนี้มีเพลงเด่นๆอย่าง “Brown Sugar“, “Wild Horses”, “Can’t You Hear Me Knocking”, “Bitch” และ “Dead Flowers”
เลโอเน่ อาบัคคิโอ้ (Leone Abbacchio / レオーネ・アバッキオ)
สแตนด์ : มู้ดดี้ บลูส์ (Moody Blues)
ทั้งชื่อและนามสกุลนั้นมาจากภาษาอิตาเลี่ยน โดยชื่อ “เลโอเน่” แปลว่า “สิงโต” (Lion) ส่วนนามสกุล “อาบัคคิโอ้” แปลว่า “เนื้อแกะ” (Lamb meat) ส่วนชื่อสแตนด์ของอาบัคคิโอ้นั้นมาจากวงดนตรีโปรเกสซีฟร็อคจากอังกฤษ “The Moody Blues” ช่วงยุค 60’s – 70’s มีเพลงเด่นๆ คือ “Nights in White Satin“, “Go Now”, “Tuesday Afternoon”, “Ride My See-Saw” และ “Question” (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า Moody Jazz)
กุยโด้ มิซูต้า (Guido Mista / グイード・ミスタ)
สแตนด์ : เซ็กส์ พิสเทิลส์ (Sex Pistols)
ในอิตาลีนั้นชื่อ Mista นั้นคล้ายกับชื่อเมนูสลัด Insalata mista (“mixed salad”) หรือ สลัดผักรวม ส่วนชื่อสแตนด์นั้นมาจากวงพั้งค์สุดห่ามขวางสังคมช่วงยุค 70’s จากอังกฤษ The Sex Pistols ที่โด่งดังสุดๆ กับเพลง “Anarchy in the U.K.” และ “God Save the Queen” (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า Six Bullets)
นารันช่า กิลเกอร์ (Narancia Ghirga / ナランチャ・ギルガ)
สแตนด์ : แอร์โรว์สมิธ (Aerosmith)
ชื่อของ “นารันชา” ในอิตาลี่นั้นออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า Arancia ซึ่งแปลว่าส้ม ส่วนชื่อสแตนด์นั้นมาจากวงร็อครุ่นใหญ่จากบอสตัน Aerosmith ที่มีเพลงฮิตอย่าง “Dream On”, “Crazy,” “Cryin'”, “Livin’ on the Edge” และ “I Don’t Want to Miss a Thing” ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า ลิลบอมเบอร์ – Little Bombardier ซึ่งนำมาจากชื่อเพลงในอัลบั้ม David Bowie ในปี 1967
ทริช อูน่า (Trish Una /トリッシュ・ウナ)
สแตนด์ : สไปซ์ เกิร์ล (Spice Girl)
ชื่อของ “ทริช” นั้นนำมาจาก Trish Goff นางแบบสาวชาวอเมริกันช่วงยุค 90’s ส่วนนามสกุล “Una” นั้นคือจำนวนนับหนึ่งในภาษาอิตาเลี่ยน (A, An) ส่วนสแตนด์นั้นนำมาจากชื่อเกิร์ลกรุ๊ปแห่งยุค 90’s Spice Girls ที่มีเพลงฮิตอย่าง “Wannabe”, “Spice Up Your Life”, “Say You’ll Be There” และ “2 Become 1” (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า สไปซ์ซี่เลดี้ – Spicy Lady)
ปันนาก็อตต้า ฟูโก้ (Pannacotta Fugo / パンナコッタ・フーゴ)
สแตนด์ : เพอร์เพิล เฮซ (Purple Haze)
ชื่อ ปันนาก็อตต้า นั้นนำมาจากชื่อขนมพุดดิ้งของอิตาลี Panna cotta ส่วน Fugo นั้นภาษาอิตาเลี่ยนแปลว่า Dismissing (ยกฟ้อง, ไล่สิ่งอื่นออก, หรือไม่เห็นหัว) ส่วนชื่อแสตนด์นั้นมาจากชื่อเพลง “Purple Haze” ของ the Jimi Hendrix Experience ในปี 1967 ซึ่งเป็นเพลงที่มีเสียงกีต้าร์เฉพาะตัวของ Jimi Hendrix เลยทีเดียว (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า เพอร์เพิล สโมค – Purple Smoke)
เดียโบโร่ (Diavolo / ディアボロ)
สแตนด์ : คิง คริมสัน (King Crimson)
ชื่อ Diavolo ในภาษาอิตาเลี่ยนนั้นหมายถึง ปิศาจ (Devil) ส่วนชื่อสแตนด์นั้นนำมาจากวงโปรเกสซีฟร็อคจากลอนดอน King Crimson ที่มีชื่อเสียงในช่วงยุค 70’s ที่มีเพลงอย่าง “21st Century Schizoid Man”, “In the Court of the Crimson King“, “Red”, and “Starless” (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า เอ็มเพอเรอร์ คริมสัน – Emperor Crimson)
วีเนการ์ ด็อปปิโอ้ (Vinegar Doppio / ヴィネガー・ドッピオ)
สแตนด์ : คิง คริมสัน: เอพิทาฟ (Epitaph)
ชื่อ Vinegar นั้นมาจาก “น้ำส้มสายชู” ส่วนนามสกุล Doppio นั้นในภาษาอิตาเลี่ยนมาจากคำว่า “Double” (จำนวนสองเท่า) ส่วนแสตนด์นั้นด็อปปิโอ้แชร์สแตนด์กับเดียโบโร่ แต่มีสแตนด์ร่างแยก Epitaph ซึ่งนำมาจากเพลงของวง King Crimson ในอัลบั้ม In the Court of the Crimson King ในปี 1969
โปรูโป้ (Polpo / ポルポ)
สแตนด์ : แบล็ค แซบบาธ (Black Sabbath)
ชื่อ Polpo ในภาษาอิตาเลี่ยนนั้นแปลว่า ปลาหมึกยักษ์ (Octopus) ส่วนชื่อสแตนด์ Black Sabbath มาจากวงเฮฟวี่เมทัลในตำนานจากเบอร์มิงแฮมยุค 70’s ที่มีฟร้อนท์แมนอย่าง Ozzy Osbourne มีบทเพลงเฮฟวี่ในตำนานอย่าง “Paranoid,” “Iron Man,” “War Pigs,” “Black Sabbath,” และ “N.I.B.” (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า ชาโดว์ แซบบาธ – Shadow Sabbath)
โคโค จัมโบ้ (Coco Jumbo / ココ・ジャンボ)
สแตนด์ : มิสเตอร์ เพรซสิเด้นท์ (Mr. President)
เจ้าของสแตนด์นี้เป็นเต่า ที่ทั้งชื่อผู้ใช้และสแตนด์มาจากวงดนตรีแนวยูโรแดนซ์จากเยอรมันนี Mr. President ที่มีเพลงฮิตอย่าง “Coco Jamboo“ จากอัลบั้ม We See the Same Sun ในปี 1996 นอกจากนี้ยังมีเพลงฮิตอย่าง “Up’n Away”, “I’ll Follow the Sun”, “I Give You My Heart”, “4 on the Floor”, และ “Jojo Action”
มาริโอ สเกลโล่ (Mario Zucchero / マリオ・ズッケェロ)
สแตนด์ : ซอฟท์ แม็ชชีน (Soft Machine)
ชื่อของ มาริโอ สเกลโล่ ถ้าตามภาษาอิตาเลี่ยนและญี่ปุ่นแล้วจะออกเสียงไปทาง “ซุเกโร่”(Zucchero) ซึ่งออกเสียงไปพ้องกับคำว่า “น้ำตาล”(Sugar)ในภาษาอิตาเลี่ยน รวมทั้งยังคล้ายชื่อศิลปินบูลส์ร็อคชาวอิตาลี Zucchero Fornaciari อีกด้วยครับ ที่มีผลงานเพลงอย่าง “Diamante”, “Il Volo/My Love”, “Baila (Sexy Thing)/Baila morena”, และเพลงคู่ “Senza una donna (Without a Woman)” ที่ร่วมร้องกับ Paul Young
ส่วนชื่อสแตนด์นั้นมาจากวงร็อคจากอังกฤษช่วงยุค 60’s – 70’s Soft Machine ที่ว่ากันว่าเป็นวงแนวไซคีดีลิค(psychedelic)กลุ่มแรกๆของอังกฤษ แล้วค่อยผันแนวเพลงไปเป็นโปรเกสซีฟร็อคและฟิวชั่นแจ๊ส ที่มีเพลงลายเซ็นของวงอย่าง “We Did It Again,” “Facelift,” และ “Hibou, Anemone and Bear.” (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า เทนเดอร์ แมทชีน – Tender Machine)
ซาเร่ (Sale / サーレー)
สแตนด์ : คราฟท์ เวิร์ค (Kraft Work)
ชื่อของ ซาเร่ นั้นมาจาก “เกลือ”(Salt) ในภาษาอิตาเลี่ยน ส่วนชื่อสแตนด์นั้นมาจากวงดนตรีแนวอิเล็กทรอนิคจากเยอรมัน “Kraftwerk” ตั้งแต่ยุค 70’s ถึงปัจจุบัน ที่มีเพลง “Autobahn,” “The Model,” “Computer Love,” และ “Trans-Europe Express” เป็นลายเซ็นของวง (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า อาร์ทส์ แอนด์ คราฟท์ส Arts & Crafts ซึ่งมาจากค่ายเพลง Arts & Crafts Productions ในแคนาดา ที่มีศิลปิน Feist, Broken Social Scene, Bell Orchestre ฯลฯ )
รีซอตโต เนโร (Risotto Nero / リゾット・ネエロ)
สแตนด์ : เมทาลิก้า (Metallica)
ชื่อ “รีซอตโต” มาจากข้าวผัดอิตาลี(Risotto) ส่วนนามสกุล “เนโร” ในภาษาอิตาเลี่ยนแปลว่า “สีดำ” (Black) ส่วนสแตนด์นั้นมาจากวงร็อคเฮฟวี่เมทัลชื่อดังจากลอสแอนเจลิส “Metallica” ที่โด่งดังมาตั้งแต่ยุค 80’s มีเพลงเด็ดๆ ของวงอย่าง “Enter Sandman,” “Master of Puppets,” “One,” “Nothing Else Matters,” และ “Sad but True.” (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า เมทัลลิค – Metallic)
ฟอร์มัจจิโอ้ (Formaggio / ホルマジオ)
สแตนด์ : ลิตเติ้ลฟี้ต (Little Feet)
ชื่อของ “ฟอร์มัจจิโอ้” ในภาษาอิตาเลี่ยนแปลว่า “ชีส” (cheese) และยังเป็นชื่อของนักวิชาการชาวอิตาเลี่ยนนามว่า Dino Formaggio อีกด้วย ส่วนสแตนด์นั้นมาจากชื่อวงเซาท์เทิร์นร็อคจากแอลเอ Little Feet และยังมีอัลบั้มชื่อเดียวกันในปี 1971 อีกด้วย Jimi Page มือกีต้าร์วง Led Zeppelin ยังเคยให้สัมภาษณ์ในปี 1975 ว่าวงนี้เป็นวงจากอเมริกาที่เค้าชื่นชอบมากวงนึง มีเพลงที่เด่นๆ ของวงอย่างเพลง “Dixie Chicken“, “Willin'”, “Oh Atlanta”, “Spanish Moon” และ “Feats Don’t Fail Me Now” (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า ไทนี่ ฟีท -Tiny Feet)
อิลูโซ่ (Illuso / イルーゾォ)
สแตนด์ : แมน อิน เดอะ มิเรอร์ (Man in the Mirror)
อิลูโซ่ ชื่อในอิตาลีตรงกับคำว่า “ภาพลวงตา”(deluded) ส่วนชื่อสแตนด์นั้นเป็นเพลง “Man In The Mirror” จาก King Of Pop “Michael Jackson” ในอัลบั้ม Bad ในปี 1987 เพลงนี้ถือเป็นหนึ่งในเพลงที่ได้รับเสียงวิจารณ์ที่ดีที่สุดเพลงนึงของ MJ (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า มิร์เรอร์ แมน – Mirror Man ซึ่งเป็นเพลงจากวง The Human League ปี 1982)
โปรชู้ต (Prosciutto (プロシュート)
สแตนด์ : เดอะ เกรทฟูล เดด (The Grateful Dead)
โปรชู้ต ชื่อนั้นเป็นคำที่นำมาจากแฮมในภาษาอิตาเลี่ยน “โปรสชุตโต้” (Prosciutto) ส่วนชื่อสแตนด์นั้นเป็นชื่อของวงร็อค The Grateful Dead จากแคลิฟอร์เนียที่โด่งดังช่วงปี 60’s – 70’s “Truckin'”, “Touch of Grey“, “Casey Jones”, “Uncle John’s Band” และ “Sugar Magnolia” (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า เดอะ แต๊งค์ฟูล เดธ – The Thankful Death)
เพ็ตซี่ (Pesci / ペッシ)
สแตนด์ : บีช บอย (Beach Boy)
ชื่อ “เพ็ตซี่” นั้นอ้างอิงมาจากคำว่า “ปลา” (Fish) ในภาษาอิตาเลี่ยน และ ยังเป็นนามสกุลของนักแสดงฮอลลีวูดรุ่นเดอะอย่าง “Joe Pesci” (โจ เปซชี่) นักแสดงที่เรามักจะเห็นบ่อยๆในหนังของปู่มาร์ติน สกอร์เซซี อย่างในเรื่อง Raging Bull (1980), Goodfellas (1990), Casino (1995), และ The Irishman (2019) หรือเป็นดาราสมทบในบทบาทตลกๆ อย่างในเรื่อง Home Alone (1990–1992), My Cousin Vinny (1992), และ the Lethal Weapon (1989–1998) ส่วนชื่อสแตนด์นั้นนำมาจากวงยุค 60’s จากอเมริกา The Beach Boys ที่มีเพลงดังๆ อย่าง “Good Vibrations“, “California Girls”, “Wouldn’t It Be Nice”, “God Only Knows” และ “Surfin’ USA” (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า ฟิชเชอร์แมน – Fisher Man ซึ่งนำมาจากเพลง John the Fisherman ของวงร็อค Primus จากอัลบั้ม Frizzle Fry ในปี 1990)
เมโลเน่ (Melone / メローネ)
สแตนด์ : เบบี้เฟซ (Baby Face)
เมโลเน่ ในภาษาอิตาเลี่ยนคือ “เมล่อน” (Melon) ส่วนชื่อสแตนด์นั้นนำมาจาก Kenneth Brian Edmonds หรือชื่อในวงการเพลง Babyface ศิลปินนักร้อง, นักแต่งเพลง, โปรดิวเซอร์ ชาวอเมริกัน เจ้าของรางวัล Grammy Awards 12 รางวัลด้วยกัน มีเพลงที่ร้องเองแต่งเองกันโด่งดังอย่าง “Whip Appeal”, “When Can I See You”, “Every Time I Close My Eyes“, “It’s No Crime” และ “Tender Lover” (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า เบบี้เฮด – Babyhead)
กิอัจโจ้ (Ghiaccio / ギアッチョ)
สแตนด์ : ไวท์ อัลบั้ม (White Album)
กิอัจโจ้ ในภาษาอิตาเลี่ยนคือ “น้ำแข็ง” (Ice) ส่วนชื่อสแตนด์นั้นนำมาจากอัลบั้มของวง The Beatles ในปี 1968 “White Album” อัลบั้มคู่มาสเตอร์พีซอัลบั้มนึงในวงการเพลงเลยก็ว่าได้ แถมบรรยากาศการทำเพลงในอัลบั้มนี้นำไปสู่การล่มสลายของวงอีกด้วย ส่วนพลังของสแตนด์ “Gently Weeps” ก็ถูกนำชื่อมาจากเพลง “While My Guitar Gently Weeps” ในอัลบั้มนี้ ซึ่งเพลงนี้ยังได้ Eric Clapton มาโซโล่ให้อีกด้วย ส่วนเพลงอื่นๆ ที่เด่นๆ ในอัลบั้มก็มี “Back in the U.S.S.R”, “Dear Prudence”, “Blackbird”, “Happiness is a Warm Gun”, “Helter Skelter” แต่เอาจริงๆว่าดีทุกเพลงเลย (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า ไวท์ ไอซ์ – White Ice)
สกัวโล่ (Squalo / スクアーロ)
สแตนด์ : แคลช (Clash)
สกัวโล่ ในภาษาอิตาเลี่ยนคือ “ปลาฉลาม” (Shark) ส่วนชื่อสแตนด์นั้นนำมาจากวงพั้งค์ร็อคจากอังกฤษ “The Clash” ในช่วงปี 1976–1986 วงนี้ยังเคยมาทัวร์ในประเทศไทย แล้วไปถ่ายรูปกันบนทางรถไฟแถวๆ ถนนเพชรบุรี และนำรูปถ่ายนั้นมาใช้หน้าปกอัลบั้ม Combat Rock ในปี 1982 อีกด้วย วงนี้มีเพลงเด่นๆ อย่าง “London Calling“, “Rock the Casbah”, “Should I Stay or Should I Go”, “Train in Vain” และ “I Fought the Law” (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า ครัช – Crush ที่น่าจะมาจากเพลงของวง Dave Matthews Band จากอัลบั้ม Before These Crowded Streets ในปี 1998)
ทิซเซียโน่ (Tiziano / ティッツァーノ)
สแตนด์ : ทอร์คกิ้ง เฮด (Talking Head)
ทิซเซียโน่ มาจากชื่อนักร้องชาวอิตาเลี่ยน “Tiziano Ferro” ที่มีเพลงฮิตระดับอินเตอร์ในปี 2001 “Perdono” ส่วนชื่อสแตนด์มาจากวงดนตรีแนวนิวเวฟจากอเมริกา “Talking Heads” ที่มีเพลง “Burning Down the House” ที่ยังเป็นชื่อของสแตนด์ในภาค Stone Ocean อีกด้วย นอกจากเพลงนี้แล้วยังมีเพลง “Once in a Lifetime”, “Psycho Killer“, “Road to Nowhere”, “Take Me to the River” และ “Heaven” (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า ทอร์คกิ้ง เมาท์ – Talking Mouth)
คารูเน่ (Carne / カルネ)
สแตนด์ : โนโทเลียส B.I.G (Notorious B.I.G.)
คารูเน่ ในภาษาอิตาเลี่ยนคือ “เนื้อสัตว์” (Meat) ส่วนชื่อสแตนด์นั้นมาจากแร็พเปอร์ชาวอเมริกันผู้ล่วงลับในวัยเพียง 24 ปี “The Notorious B.I.G.” ที่ฝากบทเพลงไว้อย่าง “Juicy“, “Hypnotize”, “Big Poppa”, “One More Chance” และ “Mo Money Mo Problems” (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า โนโทเรียส เชส – Notorious Chase)
ช็อคโกแล็ตต้า (Cioccolata / チョコラータ)
สแตนด์ : กรีน เดย์ (Green Day)
ช็อคโกแล็ตต้า ที่มาก็คือ “ช็อคโกแล็ต”(Chocolate) ในภาษาอิตาเลี่ยน ส่วนชื่อสแตนด์นั้นมาจากวงพั้งค์ชื่อดังในอเมริกา มีเพลงที่โด่งดังอย่าง “Good Riddance (Time of Your Life)”, “Basket Case“, “American Idiot”, “Wake Me Up When September Ends”, “When I Come Around” และอีกมากมาย (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า กรีน ที – Green Tea)
เซ็คโก้ (Secco / セッコ)
สแตนด์ : โอเอซิส (Oasis)
เซ็คโก้ น่าจะมาจาก 2 คำในภาษาอิตาเลี่ยน คือ “ทำให้แห้ง”(Dry) อีกคำก็คือ “ไวน์ขาว” (Prosecco) ส่วนชื่อสแตนด์นั้นมาจากวงร็อคจากเมืองแมนเชสเตอร์ “Oasis” “Wonderwall“, “Don’t Look Back in Anger”, “Live Forever”, “Champagne Supernova”, “Stop Crying Your Heart Out” และอีกหลายๆ เพลง (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า Sanctuary – แชงทัวอะรี่ ซึ่งนำมาจากเพลงและอั้ลบั้มในปี 1978 ของ The J. Geils Band)
สโคริปปี้ (Scolippi / スコリッピ)
สแตนด์ : โรลลิ่ง สโตนส์ (Rolling Stones)
สโคริปปี้ ชื่อมาจากเมนูอาหาร Scaloppine ที่สามารถเป็นเนื้ออะไรก็ได้ปรุงรสกับซอส ส่วนชื่อสแตนด์นั้นนำมาจากวงร็อคในตำนานจากอังกฤษ The Rolling Stones วงหินกลิ้งที่เหมือนกับสแตนด์เลย วงนี้มีเพลงในตำนานอย่าง “(I Can’t Get No) Satisfaction“, “Sympathy for the Devil”, “Brown Sugar”, “Gimme Shelter” และ “Jumpin’ Jack Flash” (ส่วนชื่อสแตนด์ในเน็ตฟลิกซ์ไทยใช้ชื่อว่า พรอฟ’ฟีซี สโตนส์ – Prophecy Stones)
ที่มา : jojo.fandom.com
ติตตาม Playlist นี้ได้ที่ Spotify
อยากจะเขียนอะไรก็เขียนอ่ะครับ แต่ถ้าเขียนผิดหรือตกหล่นไปก็ขออภัยล่วงหน้านะครับ