Skip to content

รำลึก “The Day the Music Died” ที่เอาชีวิตร็อคสตาร์ไปถึงสามคน

เวลาที่ใช้อ่าน : 4 นาที

ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1959 มีเหตุการณ์ที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับวงการเพลงเป็นอย่างมาก เพราะสูญเสียร็อคแอนด์โรลสตาร์ดาวรุ่ง ที่ชื่อเสียงกำลังรุ่งโรจน์ในแวดวงดนตรีอเมริกา เหตุการณ์นี้ได้คร่าชีวิตทั้ง 3 คนเลยล่ะครับ

สามหนุ่ม สามมุม นี้มีใครบ้าง ?

1.บัดดี้ ฮอลลี (Buddy Holly)
Buddy Holly

บัดดี้ ฮอลลี หนุ่มวัย 22 ปี จากรัฐเท็กซัส นับว่าเป็น 1 ในผู้บุกเบิกวัฒนธรรมเพลง “Rock & Roll / Rockabilly” ในช่วงกลางยุค ‘50s เคยเล่นเป็นวงเปิดศิลปินให้อย่าง Elvis Presley, Bill Haley & His Comets จนกระทั่งนำไปสู่ความสำเร็จมีเพลงเป็นของตัวเองแบบติดอันดับขายดีที่สุดในอเมริกา และ ฮิตติดชาร์ทในอังกฤษ ในนามของวง The Crickets อย่างเพลง “That’ll Be the Day” และ “Peggy Sue”

บัดดี้ ฮอลลี่ อยู่กับวง The Crickets ได้ประมาณ 3 ปี จากนั้นก็มีเหตุผลให้แยกทางกันในปี 1958

ก่อนที่จะกลับมาฟอร์มวงใหม่เพื่อออกทัวร์ Winter Dance Party ในเดือนมกราคม ปี 1959 จำนวน 24 เมืองต่อเนื่อง ร่วมกับ Ritchie Valens, J. P. “The Big Bopper”, Frankie Sardo, และ Dion DiMucci and The Belmonts

เอกลักษณ์ของ บัดดี้ ฮอลลี นอกจากเสียงร้องและการเล่นกีต้าร์ของเค้าแล้ว ก็เป็น “แว่นตากรอบสีดำ” ทรง Wayfarer แบบ Oversize นี่หล่ะครับ

2.ริทชี่ วาเลนส์ (Ritchie Valens)
Ritchie Valens

ริทชี่ วาเลนส์ มีชื่อจริงว่า ริชาร์ด สตีเฟน วาเลนซูล่า (Richard Steven Valenzuela) พ่อและแม่ของเขาอพยพจากประเทศเม็กซิโก มาอยู่ที่ พาคอยม่า, ลอสแอนเจลิส เมืองที่มีประชากรลาตินอเมริกาอาศัยอยู่กันมาก ทำให้ในวัยเด็กเขาได้รับอิทธิพลดนตรีพื้นบ้านของชาวเม็กซิกันอย่าง มารีอาชี (Mariachi), กีต้าร์สไตล์ ฟลาเมงโก, R&B และ Jump Blues

ช่วงเรียนอยู่มัธยมต้น ริชาร์ด มักจะนำกีต้าร์ติดตัวไปโรงเรียนตลอดเวลา โดยนำไปเล่นให้เพื่อนๆ ฟังที่โรงเรียนอยู่เสมอ จนได้รับเชิญให้ไปร่วมวงกับวงดนตรีท้องถิ่นชื่อว่า The Silhouettes

จนเมื่อนักร้องเดิมลาออกจากวง ริชาร์ด ก็ขึ้นแท่นร้องเพลงเองเลยครับ!นี่หล่ะทำให้ตัวเค้าเองได้เปล่งประกายความเป็นนักร้องทั้งที่ยังอยู่ในวัยทีน

บ๊อบ คีน, เจ้าของค่ายเพลงเล็กๆ ชื่อ Del-Fi Records จากเมืองฮอลี่วูด มาเจอช้างเผือกในโรงหนัง matinée ที่ริชาร์ดกำลังแสดงอยู่ ซึ่งเค้าประทับใจการแสดงของริชาร์ดทันที จึงต้องจับมาเซ็นต์สัญญาเพื่อออกแผ่นเสียงกับค่ายเค้าเลยครับ

แต่ บ๊อบ คีน เซ็นต์สัญญากับแค่ ริชาร์ด เท่านั้นนะครับ เพื่อนๆ ที่เหลือในวงไม่ได้มาด้วย บ็อบ คีน คงเห็นว่ายังไม่ถึงขั้นหล่ะมั้ง

หลังจากตกลงกันทางด้านสัญญาและธุรกิจสำเร็จ บ๊อบ คีน บอกว่า ชื่อ ริชาร์ด นั้นมันโหลไป มองไปทางไหนๆ ก็เจอแต่ริชาร์ดเต็มไปหมด และ นามสกุล วาเลนซูเอล่า นั้นก็ยาวเกิ๊น..

เค้าเลยหั่นให้เหลือแค่ ริทชี่ ที่สะกดด้วยตัว T กับนามสกุลเหลือแค่ วาเลนส์ เลยกลายเป็น ริทชี่ วาเลนส์ ในที่สุด

บ๊อบ คีน ส่งเดโม่เทปไปให้ค่ายเพลงแล้ว ซึ่งก็ส่งผลให้ ริทชี่ ได้อัดเสียงใหม่อีกครั้งที่ Gold Star Studios โดยจากเดิมในเดโม่มีแต่เสียงร้องและกีต้าร์ คราวนี้มีกลอง และเครื่องดนตรีอื่นๆ มาผสมผสานพร้อมวางจำหน่ายแล้วหล่ะครับ

จากนั้น ริทชี่ วาเลนส์ ก็รุ่งโรจน์ฉายแสงความเป็นศิลปิน โดยเขาสร้างสรรค์ผลงานการร้องและการเล่นกีต้าร์แบบใหม่ๆ อยู่เสมอ โดยเอาริฟท์และเนื้อร้องลาตินมาร่วมผสมอยู่ในเพลง อย่าง La Bamba

เริ่มโด่งดังแค่ใน California คงไม่พอ ต้องออกทัวร์โปรโมตทั่วอเมริกา ทำให้ต้องดร๊อปเรียนมัธยมเลยหล่ะ

แต่การออกทัวร์ ริทชี่ก็ยังกลัวการขึ้นเครื่องบิน เพราะเค้ามีความทรงจำไม่ค่อยดีเกี่ยวกับอุบัติเหตุจากเครื่องบิน

เนื่องจากในเดือนมกราคม ปี 1957 เครื่องบินตกที่สนามเด็กเล่นในโรงเรียนของเขา ได้พรากเพื่อนๆ ของเค้าไปหลายคน วันนั้นเป็นวันที่โชคดีของริทชี่ เพราะเค้าไปร่วมงานศพตาของเค้าพอดี แต่เหตุการณ์นั้น เค้าก็เศร้าโศกและฝังใจกับเรื่องนี้แบบฝังใจ

โดยการออกทัวร์โปรโมตของเขานั้น ได้ร่วมกับทัวร์ Winter Dance Party ในเดือนมกราคม ปี 1959 ร่วมกับ Buddy Holly และ “The Big Bopper” ในขณะที่ ริทชี่ มีอายุเพียง 17 ปี เท่านั้น

3.ไจลส์ เพร์รี่
The Big Bopper

ไจลส์ เพร์รี่ “เจ.พี.” ริชาร์ดสัน จูเนียร์ หรือรู้จักกันในนามว่า เดอะ บิ๊ก บ๊อปเปอร์ (The Big Bopper) ศิลปินร็อคแอนโรล จากเท็กซัส ด้วยบุคลิค, ท่าทาง, น้ำเสียง ที่ดูตลกและสนุกสนานร่าเริง

เพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขา Chantilly Lace ในปี 1958 ด้วยมุขจีบสาวทางโทรศัพท์ โดยในการแสดงของเขาจะมีการคุยโทรศัพท์มาในการแสดงด้วย

เค้าเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นพนักงานพาร์ทไทม์ที่สถานีวิทยุ KTRM ในเท็กซัส จนเมื่ออายุ 19 ปีก็ได้รับเป็นพนักงานประจำ จนสร้างครอบครัวและมีลูกสาว 1 คนขณะที่เค้าอายุ 23 ปี หลังจากนั้นก็ได้รับการเลื่อนตำแหน่งให้เป็น “Supervisor”

พออายุ 25 ปี เค้าก็ถูกเกณฑ์ทหารเข้ารับใช้ชาติกับกองทัพบกสหรัฐ โดยทำหน้าที่ เป็นเจ้าหน้าที่ประจำสถานีเรดาห์ในค่าย Fort Bliss ในเมือง เอล ปาโซ รัฐเท็กซัส ถึง 2 ปี

หลังจากปลดทหาร เค้ากลับมาเป็นดีเจที่สถานีวิทยุ KTRM  อีกครั้ง โดยครั้งนี้เข้าได้รับโอกาสสร้างสรรค์รายการวิทยุใหม่ๆ พร้อมตั้งฉายาตัวเองว่า “The Big Bopper” พร้อมพ่วงด้วยตำแหน่ง  ผู้กำกับรายการ “Program Director”

ปี 1957 ขณะที่เขาอายุ 27 ปี ได้สร้างสถิติออกอากาศรายการวิทยุต่อเนื่องยาวที่สุด ด้วย 1,821 เพลง เป็นระยะเวลา 122 ชั่วโมง กับ 8 นาที หรือ 5 วันกับอีก 2 ชั่วโมง โดยใช้เวลาอาบน้ำช่วงข่าวคั่นเวลา

หลังจากนั้นเค้าก็เริ่มต้นอาชีพในด้านดนตรีด้วยการเป็นนักแต่งเพลง โดยเริ่มแต่งเพลงให้กับ George Jones กับเพลง White Lightning, เพลง “Running Bear” ให้กับ Johnny Preston ก่อนที่จะออกเพลง “Chantilly Lace” ให้แก่ตนเอง และทำให้เค้ามีชื่อเสียงมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม

ขณะที่เพลง “Chantilly Lace” กำลังประสบความสำเร็จ “The Big Bopper” ก็ได้ร่วมกับทัวร์แสดงดนตรีกับ Buddy Holly, Ritchie Valens, และ Dion and the Belmonts ในปี 1959 กับทัวร์ที่ชื่อว่า “Winter Dance Party”

เมื่อครบองค์ประกอบ 3 หนุ่มในขณะทัวร์ Winter Dance Party แล้ว ช่วงเวลา The Day the Music Died ก็มาถึง

ตารางทัวร์ Winter Dance Party

ทัวร์ Winter Dance Party นั้นมีโปรแกรมทัวร์ 24 เมืองใน 24 วัน นั่นเท่ากับว่า ต้องแสดงคอนเสิร์ตทุกคืน และ เดินทางไปยังเมืองต่อไปในทันทีในวันรุ่งขึ้น

พาหนะในการเดินทางของพวกเขา ก็คือ รถบัส 1 คัน แล้วรถบัสที่ใช้ในการเดินทางทัวร์ ก็ไม่ได้เพียบพร้อมสะดวกสบายอย่างสมัยนี้

แถมไม่มีทีมงานขนอุปกรณ์ด้วยนะครับ คงต้องทำกันเองทั้งหมดในระหว่างแวะโชว์คอนเสิร์ต

เท่านั้นคงลำบากไม่พอ สภาพอากาศระหว่างทัวร์นั้น หนาวติดลบ -6 ถึง -38 องศาเซลเซียสเลยหล่ะครับ!! เย็นกว่าช่องฟรีซในตู้เย็นเสียอีก!!

ไม่รู้เจ้ากรรมนายเวรโกรธแค้นอะไรกับทัวร์คณะนี้ รถบัสที่ใช้ทัวร์ อุปกรณ์ทำความร้อน (Heater) ดันมาพังตั้งแต่เริ่มทัวร์ได้ไม่นานเท่าไหร่ด้วย!!

อะไรจะรันทดขนาดนั้น!!!

ผลที่ตามมา ทำให้นักดนตรีเริ่มล้าและเหนื่อยกับการทัวร์คอนเสิร์ตครั้งนี้ มือกลองของ บัดดี้ ฮอลลี่เองก็ต้องรักษาตัวจากโรคหิมะกัดเท้า ตามมาด้วย ริทชี่ วาเลนส์ และ บิ๊ก บ๊อปเปอร์ เริ่มป่วยด้วยไข้หวัด การแสดงดนตรีไปพร้อมกับอาการเจ็บป่วยพร้อมสภาพจิตใจที่ย่ำแย่กับการเดินทาง คงทำให้การแสดงไม่ได้เต็มที่แน่ๆ

ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ หลังจากการแสดงที่ เคลียร์เลค รัฐไอโอว่า จุดหมายต่อไปของคณะ คือเมือง Moorhead รัฐมินนิโซตา ห่างออกไปราว 587 กิโลเมตร

บัดดี้ ฮอลลี่ ผู้ที่เอือมกับการเดินทางด้วยรถบัส ได้ ตัดสินใจเช่าเครื่องบิน ไปยัง เมืองฟาร์โก รัฐนอร์ทดาโคตา ซึ่งมีสนามบินใกล้กับจุดหมายถัดไปที่สุดแล้ว เพื่อประหยัดเวลาในการเดินทางและทำให้เค้ามีเวลาพักผ่อนมากยิ่งขึ้น

บริษัท Dwyer Flying Service ที่ บัดดี้ ฮอลลี่ ได้เช่าเครื่องบินนั้น ได้ส่งนักบินหนุ่มวัย 21 ปี นามว่า Roger Peterson มาขับเครื่องบินให้ร็อคแอนด์โรลสตาร์เที่ยวนี้ โดยเครื่องบินสามารถโดยสารได้แค่ 3 ที่นั่งเท่านั้น คือ บัดดี้ ฮอลลี่, เวย์ลอน เจนนิ่งส์ มือเบส และ ทอมมี่ แอลซัพ มือกีต้าร์

ก่อนเดินทาง เดอะ บิ๊ก บ๊อปเปอร์ ที่ป่วยด้วยไข้หวัด จึงขอร้องเจนนิ่งส์มือเบส ให้เค้านั่งเครื่องแทนได้มั้ย ? เพราะคงเดินทางด้วยรถบัสพร้อมไข้หวัดไม่ไหวจริงๆ

เจนนิ่งส์ ก็ใจดียอมให้แลกครับ! เดอะ บิ๊ก บ๊อปเปอร์ก็เลยได้นั่งเครื่องบินแทน

หลังจาก บัดดี้ ฮอลลี่ รู้ว่า เจนนิ่งส์ สละที่นั่งให้ บิ๊ก บ๊อปเปอร์นั้น เลยแซวติดตลกไปว่า “ฉันหวังว่านายคงถูกแช่แข็งในรถบัสนะ”

“ฉันก็หวังว่าเครื่องบินนายก็ตกเช่นกันหว่ะ” เจนนิ่งส์ตอบติดตลกทันควัน

ส่วนริทชี่ วาเลนส์ ผู้ที่กลัวการเดินทางด้วยเครื่องบินนั้น ครั้งนี้ก็คงไม่ไหวเช่นกัน ถึงกับออกปากขอแลกที่กับ ทอมมี่ แอลซัพ

แต่ แอลซัพ ไม่ได้ใจดีเหมือน เจนนิ่งส์ ทั้งคู่ตกลงกันด้วยการโยนเหรียญเสี่ยงทาย หัว-ก้อย

แต่แล้ว ริทชี่ วาเลนส์ ชนะครับ! ทายถูกได้ขึ้นเครื่องบินไป ส่วนแอลซัพเดินทางด้วยรถบัสแช่แข็งแทน

และแล้วเที่ยวบินสู่ดวงดาวก็เริ่มออกเดินทางพร้อมด้วย  3 หนุ่ม ในเวลา “เที่ยงคืนห้าสิบห้านาที” ของวันที่ 3 กุมภาพันธ์ และหายไปจากจอเรดาห์ในเวลา ตี 1 ก่อนที่จะพบซากเครื่องบินในเวลา เก้าโมงครึ่ง ห่างจากสนามบินไปประมาณ 10 กิโลเมตร

ปิดตำนาน Rock & Roll pioneers ของทั้ง 3 คนไปโดยปริยาย

โดยในภาพยนต์ บัดดี้ ฮอลลี่ หันพูดกับ ริทชี่ วาเลนส์ ที่กำลังรู้สึกประหม่ากับการนั่งเครื่องบินว่า

“เฮ้ย ริทชี่, ใจเย็นๆ พวก ไม่ต้องกังวลไป, ท้องฟ้าข้างนอกนั่นเป็นที่อยู่ของดวงดาว, จริงมั้ย?” Hey Ritchie, relax. It’s cool… Besides, the sky belongs to the stars.

หลังจากเหตุการณ์อันน่าเศร้า

มีการรำลึกถึงเหตุการณ์ในหลากหลายรูปแบบ เช่น การสร้างอนุสาวรีย์, บทเพลง, ภาพยนตร์, ชื่อถนน หรือ สถานที่ ฯลฯ แต่เหตุการณ์นี้ก็ยังไม่ได้ถูกเรียกว่า The Day the Music Died

ป้ายอนุสรณ์ ณ จุดที่เครื่องตก
ป้ายบอกทางจุดที่เครื่องตก โดยใช้สัญลักษณ์แว่นตาที่ บัดดี้ ฮอลลี่ ชอบใส่

ปลุกชีพ American Pie โดย Madonna 

โดยในปี 1971 หลังจากเหตุการณ์ 12 ปี ศิลปินนักร้องชาวอเมริกัน Don McLean ได้แต่งเพลงรำลึกถึงการสูญเสียบุคลากรด้านร็อคแอนโรล ชื่อเพลง American Pie โดยเนื้อเพลงมีช่วงที่ร้องว่า “The day the music died” จึงถูกนำมาใช้เป็นชื่อเหตุการณ์นี้

เพลง American Pie ได้ฮิตติดชาร์ทอันดับ 1 ในอเมริกาถึง 4 สัปดาห์  และในปี 2000 ศิลปินตัวแม่ “Madonna” ได้นำกลับมาร้องใหม่อีกครั้ง และ ติดชาร์ทสูงสุดอันดับ 1 ในหลายๆ ประเทศอีกด้วย

Don McLean ได้ตั้งชื่อเครื่องบินที่ตกว่า American Pie ซึ่งจริงๆ แล้ว เครื่องบินลำที่ตกไม่ได้ใช้ชื่อนี้ มีแค่หมายเลขประจำเครื่องบิน คือ N3794N


แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *