หลายเดือนก่อนเคยเข้าสนทนาในเพจ ให้ความเห็นเรื่องวงร็อค “เมนสตรีม” ในไทย ก็มีคนมาแย้งคำจำกัดความเมนสตรีมไปในเชิงป็อปคัลเจอร์เฉยที่มาบอกว่า คาราบาวกับโลโซ ไม่เมนสตรีม ถัดมาอีกไม่เท่าไหร่เราไปคอมเมนท์ในเพจ “ฟังดนตรี” โดยทางเพจเขียนไว้ว่า “แหลม มอริสัน ผู้วางรากฐานให้กับวงการดนตรีร็อคในเมืองไทย” แน่นอนว่าเราค่อนข้างไม่เห็นด้วยในจุดนี้ ดูเหมือนจะสรรเสริญกันเกินไป (Overrated) และแน่นอนมีคนไม่เห็นด้วยที่มาด้อยค่าไอดอลพวกเค้า หนึ่งในนั้นมี ดร.วชิรศักดิ์ ที่มีดีกรีระดับนักวิชาการอิสระเรื่องเศรษฐกิจเลย นั่นเลยเป็นที่มาจะลองเรียบเรียงที่มาของเพลงร็อคในไทยดูใหม่
หมายเหตุ ยังเป็นความคิดเห็นส่วนตัวนะครับ ไม่สามารถเอาไปอ้างอิงได้แต่สามารถแย้งได้นะครับ
“แหลม มอริสัน กีต้าร์คิง” หลายคนยกย่องเกินจริงหรือไม่?
คือในอดีตการเสพย์สื่อดนตรี ยิ่งโดยเฉพาะดนตรีร็อคแล้วนั้น เป็นวงแคบๆ มาก ช่วงหลังความรุ่งเรืองของแหลม มอริสันนั้น จะถูกถ่ายทอดกันผ่านนิตยสารเป็นส่วนใหญ่ แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องเล่าและความคิดเห็นของนักเขียนเท่านั้น
ในช่วงนั้นหากเคยอ่านนิตยสารเหล่านั้นอย่าง “บันเทิงคดี” หรืออีกหลายๆ เล่มแนวๆ นี้ เราจะได้เห็นการสรรเสริญของมือกีต้าร์อย่าง กีต้าร์คิง-แหลม ที่เหมือนจะถูกวางไว้เบอร์หนึ่ง, กีต้าร์เทพ-บุ๋ม ชัคกี้, กีต้าร์ปืน-กิตติ และ กีต้าร์มาเฟีย-ช.อ้น ณ บางช้าง ที่ถูกวางไว้เป็นสี่จตุเทพในช่วงนั้น และคิดว่าคนยุคก่อนอินเตอร์เนตที่มีข้อมูลพรั่งพรูเข้ามาก็คงเสพย์และรู้สึกอะไรแบบนี้มานานเช่นกัน
จนเมื่อวันนึงความรู้ที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและสามารถตั้งคำถามได้มากขึ้น นั่นเราจึงได้เห็นหลายๆ ความเห็นตั้งคำถามกับ แหลม มอริสัน และในทีนี้ไม่ได้หมายถึงว่าแกเล่นกีต้าร์ไม่เก่งแต่อย่างใด หลายๆ ครั้งเราก็ไม่รู้ว่าที่มาของตำนานต่างๆ มาจากแหล่งใด เช่น การบอกว่าไปทัวร์เมืองนอก ที่เมื่อก่อนฟังแล้วเหมือนว่าออกทัวร์แบบวงดนตรีจริงๆ แต่กลับกันก็เป็นงานรับจ้างเล่นในผับ แกไปชนิดยังไม่มีใครจ้างงานเสียด้วยซ้ำ รวมถึงการเล่นกับมือกีต้าร์ของวงสกอร์เปี้ยน ซึ่งเป็นได้แค่เรื่องเล่าเท่านั้นไม่มีหลักฐานอ้างอิงใดๆ
หากจะบอกว่าคนจากโลกที่สามไปเล่นที่โน่นได้ก็เก่งแล้ว เอาจริงๆ มองแค่ว่าคนเล่นดนตรีและหากินได้ก็เก่งแล้วก็พอ เพราะนักดนตรีที่ไปเล่นไม่ได้มีแค่วง VIP ยังมีวงจากไทยที่ผู้จัดการวง VIP ดึงๆ กันไปช่วยหารายได้ที่ยุโรป และยังมีคู่แข่งวงจากฟิลิปปินส์อีกหลายๆ วงอีกด้วยในยุคนั้น
และอีกอย่างฉายากีต้าร์คิง ที่บอกว่าได้มาจากการไปชนะฝรั่งมานั้น เอาจริงๆ แล้วมันก็เป็นงานประกวดไม่น่าใหญ่มาก เพราะถ้าใหญ่จริงแบบนั้น คงถูกบันทึกไว้ในสื่อต่างๆ ของเยอรมันแล้วล่ะ ตรงจุดนี้แอบคิดว่าเป็นการช่วยๆ กันของวงการบันเทิงในขณะนั้น เพื่อสร้างมูลค่าให้กับน้าแหลม ก่อนที่จะกลับมาหากินในเมืองไทย
หากจะเคลมว่า แหลม มอริสัน เป็นผู้วางรากฐานให้กับวงการดนตรีร็อคในเมืองไทย ส่วนตัวคิดว่าแกยังทำไม่ได้ถึงจุดนั้น แม้ว่าแกจะเป็นผู้ที่เริ่มเล่นร็อคแบบเฮฟวี่เมทัลกลุ่มแรกๆ ในไทย เล่นคัฟเวอร์ได้เหมือน เอนเตอร์เทนบนเวทีได้ดี แต่นั่นแหละแกประสบความสำเร็จตรงจุดนี้ไม่มีใครเถียง เป็นดั่งที่เพลง กีตาร์คิงส์ ของ คาราบาวกล่าวไว้แบบนั้นเลยครับ
แต่ว่าหากจะนับผลงานที่แกสร้างออกมาเอง ให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างนั้น แทบไม่มีเหมือนที่สรรเสริญหรืออวยแกเลย เพลง Night In Bangkok ก็เอามาจาก Parisienne Walkways ของแกรี่ มัวร์เต็มๆ เพียงแค่ตัดเสียงร้อง หรือการออกงานอัลบั้ม Lam Morrison Group ใน พ.ศ. 2538 นั้นก็ไม่ใช่งานที่แกแต่งเอง มีคนทำเพลงให้อีก นั่นจึงเป็นเหตุว่าทำไมถึงต้องบอกว่าหลายคนยกย่องแกเกินจริง (Overrated) ไปหน่อย เพราะเอาจริงๆแล้ว แกก็เทียบกับนักดนตรีรับจ้างเล่นในผับทั่วๆ ไปนี่แหละครับ คนเหล่านั้นก็มีฝีมือเล่นได้ มีคนชอบได้เหมือนกัน เพียงแต่ไม่มีสื่อให้พูดถึงเท่านั้นเอง
จึงไม่แปลกใจทำไมถึงมีเสียงค้านจากโลกโซเชียลกับแกเยอะ หากเทียบกับมือกีต้าร์หรือวงดนตรีในช่วงวัยเดียวกับแกแล้ว
แล้วใครวางรากฐานให้กับวงการดนตรีร็อคในเมืองไทย?
ให้พูดจริงๆ ไม่มีใครวางรากฐานหรอก เพราะดนตรีมันถูกสร้างสำเร็จแล้วจากต่างประเทศและผ่านเข้ามายังประเทศไทย ก็มีเพียงแต่คนที่ชื่นชอบและสานต่อออกมาเพื่อเหตุผลต่างๆ กันไปล่ะครับ
แต่ฟังสัมภาษณ์ไมโครจากป๋าเต็ดแล้ว ก็คิดว่าขนาดในช่วงยุค พ.ศ. 252x การเล่นดนตรีร็อคนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่มีที่ยืนเท่าไหร่ จึงไม่แปลกใจว่าหลังจากอเมริกาเริ่มถอนทัพออกจากไทย วง VIP กลับมาเล่นดนตรีในกรุงเทพได้ไม่นานเท่าไหร่ ก็ต้องดิ้นรนไปหาเงินจากต่างประเทศช่วงปี 2516 หรือเวทีที่พอมีที่ให้แสดงออกในไทย จะมีให้เห็นก็เวทีโลกดนตรี ช่อง ททบ.5 ช่วงปี พ.ศ. 2525 เลย
เพราะช่วงนั้นก็ต้องยอมรับว่าคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ชอบฟังเพลงร็อค หรือที่หนักกว่าร็อคแอนโรลอย่างเฮฟวี่ร็อคหรือเฮฟวี่เมทัล ดนตรีส่วนใหญ่จึงเป็นดนตรีที่ฟังง่ายและป็อปหรือฟั้งค์หน่อยๆ อย่าง ชาตรี, ดิอิมพอสซิเบิ้ล, แกรนด์เอ็กซ์ หรือใกล้เคียงความเป็นร็อคหน่อยก็สรวง สันติ
ห้องซ้อมดนตรีร็อคก็มีเพียงที่เดียว คือ ร้านเสริมสวยของ ปู มือกลองวงไมโครแถวๆ ประตูน้ำ เพราะห้องซ้อมที่อื่นๆ นี่ถ้าหากรู้ว่าเล่นเพลงเฮฟวี่แล้วก็ล่ะก็ ถึงขั้นสับคัทเอาท์ตัดไฟเลยล่ะครับ แต่พอเป็นแหล่งรวมนักดนตรีที่ชื่นชอบเพลงร็อคเพียงจุดเดียว จึงมีหลายๆ วงก่อนที่จะโด่งดังผ่านห้องซ้อมนี้และคุ้นหน้าคุ้นตากันทั้งนั้น
และดนตรีร็อคในไทยส่วนใหญ่ในยุคนั้น ก็มักจะเล่นคัฟเวอร์วงร็อคต่างประเทศกันคล้ายๆ กับ VIP ก็มีวงอย่าง คาไลโดสโคป , The Fox และ วงบัตเตอร์ฟลาย ( Vol. 1 ที่ออกในพ.ศ. 2525) เป็นต้น หากนับที่มีเพลงเป็นของตัวเอง แต่ก็ออกไปทางร็อคแอนโรลมากกว่าจะเป็นเฮฟวี่ก็มีบ้าง อย่างเพลง ฮูเลเล อัลบั้ม เรามาร้องเพลงกัน ของ เรวัติ พุฒินันทน์ และ วงคีตกวี (2525) หรือเพลง เด็กฮาร์ดฉันไม่สน ของวงเพรสซิเด้นท์ (2525) ที่มี เล็ก – ปรีชา ชนะภัย เล่นกีต้าร์ให้
แต่นั่นก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นและจุดประกายของความนิยมในเพลงร็อคภาษาไทยทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างและถูกยอมรับมากขึ้น กว่าที่จะถูกเรียกเพลงร็อคว่า “เพลงใต้ดิน” ศิลปินหลายๆ ท่านที่กล่าวมาด้านบนก็ล้วนแตกแขนงออกไปเป็นโปรดิวเซอร์ ปลุกปั้นสร้างนักดนตรีในเวลาต่อมา อย่าง เต๋อ เรวัติ (จากดิ อิมพอสซิเบิ้ลและวงคีตกวี), กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา (จ๊อด), สุรสีห์ อิทธิกุล,เขตต์อรัญ เลิศพิพัฒน์, อัสนี โชติกุล และอีกหลายๆคนจากคณะบัตเตอร์ฟลาย ส่วนวง The Fox ออกอัลบั้มเหมือนเป็นเพลงทดลองมา 2 เพลง มีเพลง “นางแมวผี” กับเพลง “ใครนะ! ดีดั่งพระ” แต่ฟังแล้วเหมือนเพลงไทยโบราณมากกว่าร็อคเสียอีกครับ (ไม่ชัดว่าออก พ.ศ. ใดระหว่าง 2524 – 2525)
และปี 2526 ก็มีวงนึงที่ริเริ่มทำเพลงเฮฟวี่เป็นภาษาไทยทั้งอัลบั้มจริงๆ ออกจากกรอบว่าต้องร้องภาษาอังกฤษเท่านั้น เพราะคนส่วนใหญ่ในยุคนั้นคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะฟังเฮฟวี่ร็อคเป็นภาษาไทย แต่แล้วก็มีคำตอบให้ได้ว่าทำได้จริง วงนั้นคือ วงเนื้อกับหนัง (Flesh&Skin) ที่ออกอัลบั้ม ฆาตะกัญชา และในช่วงปีเดียวกันวงบัตเตอร์ฟลายก็ออกอัลบั้ม 2 (Vol.2) แม้ครั้งนี้จะเป็นเพลงของตัวเองแล้วแต่ก็ยังเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด และแนวเพลงนั้นออกไปทางโพรเกรสซิฟร็อก
ปี 2527 วงร็อคเคสตร้าก็เลิกคัฟเวอร์และออกอัลบั้มร็อคภาษาไทยกับอัลบั้ม เทคโนโลยี แต่แนวเพลงก็ไม่ได้เฮฟวี่มากเท่าไหร่ แต่ดนตรีก็มีความน่าสนใจในส่วนของเสียงร้องของหรั่ง และ เสียงคีย์บอร์ดในอัลบั้มนี้ เสียงกีต้าร์โซโล่ของบุ๋ม-ชัคกี้ ก็ดูโดดเด่นเมื่อเทียบกับเพลงไทยในยุคนั้น ส่วนวงคาราบาวอัลบั้ม เมดอินไทยแลนด์อันโด่งดัง ก็มีเพลง “ลูกแก้ว” ที่ออกแนวเฮฟวี่ร็อคเช่นกันมาหนึ่งเพลง นอกนั้นจะมีบางเพลงที่มีกลิ่นอายร็อคอยู่บ้างจาก อัญชลี จงคดีกิจ อัลบั้ม หนึ่งเดียวคนนี้ (เพลงแนะนำ กลัวเพี้ยน, ต้องระวัง, น่าคิด, และ อยู่ไปวันวัน) เพลง เตะฝุ่น จากวง บาราคูดัส ส่วนวงเนื้อกับหนัง (Flesh&Skin) ออกผลงานชุดที่ 2 ท่านคือ ผู้ยิ่งใหญ่ ที่ยังคงยืนหยัดในแนวทางเฮฟวี่ร็อคอยู่เช่นเดิม
ปี 2528 ก็มีโพรเกรสซิฟร็อกอย่างอัลบั้ม แดนศิวิไลซ์ ของ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์ มีเพลงแนะนำอย่างเพลง “ลุงคิดกับหลานชิดชัยและแดนศิวิไลซ์สุดขอบฟ้า” ส่วนสุรสีห์ อิทธิกุล ออกอัลบั้มเดี่ยวชุดแรก “กัลปาวสาน” แม้ส่วนใหญ่จะเป็นแนวร็อคก็ยังห่างไกลจากความเป็นเฮฟวี่ร็อคกันอยู่หน่อยๆ ส่วนที่เฮฟวี่มาก่อนหน้านี้อย่างร็อคเคสตร้าก็ออกอัลบั้มที่ 2 “วิทยาศาสตร์” ที่มี กิตติ กีตาร์ปืน มาแทนชัคกี้
ปี 2529 คิดว่าช่วงปลายๆของปีนี้เป็นจุดเปลี่ยนอันสำคัญต่อการหันมาสนใจเพลงร็อคของคนไทย เดือน พฤศจิกายน อัสนี-วสันต์ โชติกุล ออกอัลบั้มแรกในนามคู่ดูโอสองพี่น้อง “บ้าหอบฟาง” เพลงร็อคที่โด่งดังอย่าง “ไม่เป็นไร” เพลงเก่านำมาทำใหม่จาก เรวัติ พุฒินันทน์ และ วงคีตกวี แถมยังได้แหลม มอริสัน มาอัดกีต้าร์เพลงนี้ให้อีกด้วย แม้จะโด่งดังมากในหลายๆ เพลง แต่ว่าเพลงส่วนใหญ่ในอัลบั้มก็ยังไม่ร็อคเท่าไหร่ และป้อม-อัสนีก็รับงานสองจ็อบมาโปรดิวซ์อัลบั้ม ร็อก เล็ก เล็ก ให้กับวง ไมโคร อีกงาน ที่วางแผงในเดือนธันวาคม ด้วยรูปลักษณ์ของสมาชิกวงที่ดูเฮฟวี่ และการทำเพลงที่ปรับมาในจุดที่ลงตัวช่วงที่แฟนเพลงเริ่มเปิดรับเพลงเฮฟวี่(แม้ว่าจะนำทำนองมาจาก เพลง Stacy ของ Fortune กับ Empty Rooms ของแกรี มัวร์) แต่นั่นคิดว่าการโด่งดังของไมโครชุดนี้ เป็นการนำเพลงร็อคเฮฟวี่ขึ้นสู่บนดิน(เมนสตรีม)ของไทยได้สำเร็จ ส่วนผู้ปูทางการทำเพลงร็อคภาษาไทยอย่างเนื้อกับหนัง (Flesh&Skin) ก็ออกงานชุดที่ 3 “อัตตาหิ อัตตโน นาโถ” และยังคงแนวทางเฮฟวี่ร็อคต่อไป เพลงอย่าง (ปีศาจ) เฮโรอีน นี่มันส์มาก! ส่วนร็อคเคสตร้าก็ออกอัลบั้มที่ 3 “เปลี่ยนทุกวัน” และเปลี่ยนมือกีต้าร์เป็น หมู – ศิริศักดิ์ ศิริโชตินันท์ และมีความรู้สึกว่างานเริ่มได้รับความนิยมน้อยลงเมื่อเทียบกับชุดแรก (อัลบั้มที่ 4 “เที่ยวเมืองไทย” เปลี่ยนแนวเพลงแทบหลังหัก และวงก็แตกไปในที่สุด)
ปี 2530 เป็นต้นมา ฝั่งเฮฟวี่ร็อคยังคงอยู่ในกระแสอย่างต่อเนื่อง เพราะไมโครมาเปรี้ยงเอาจริงๆ ปีนี้นี่แหละครับ จากนั้นก็เกิดวงอย่าง The Olarn Project ในอัลบั้ม “กุมภาพันธ์ 2528 แทนความห่วงใย” ด้วยเอกลักษณ์ของเสียงร้องจากโป่ง-ปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ และ กีต้าร์จากโอ้-โอฬาร พรหมใจ 2สมาชิกอดีตวงป๊อปวง “โซดา” ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์นับว่าเป็นวงร็อคที่มีเมโลดี้อย่างแพรวพราว ดูโดดเด่นจากวงอื่นๆ และชุดสอง “หูเหล็ก” ในปี 2532 แสดงให้เห็นว่าสามารถทำดนตรีให้หนักขึ้นได้ไปอีก ก่อนที่ทั้งสองจะแยกย้ายกันไปตามทางเดินของตัวเอง โดยโป่งประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นไปอีกในนาม “หิน เหล็ก ไฟ” กับ “The Sun” ในปีต่อๆ มา ส่วนโอ้ก็ยังมีงานกับวงเดิมต่อมาอีก 3 ชุด
เขียนมายืดยาวมาก ก็หวังว่าพอจะเห็นภาพจุดเริ่มต้นวงการร็อคในเมืองไทยนะครับ ช่วงจุดเปลี่ยนต่างๆ ที่ปูทางเดินให้คนไทยเข้ามายอมรับเพลงร็อคแบบเฮฟวี่หรือดนตรีร็อคที่หนักๆ ขึ้นมาได้ ทำให้หลายวงในเวลาต่อๆ มาอย่างไฮร็อค, ยูเรเนียม,พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร, หิน เหล็ก ไฟ ฯลฯ หรือวงใต้ดินเพลงเมทัลหนักกะโหลกหรือเนื้อหาหนักๆอย่าง ดอนผีบิน, เฮฟวี่มด,ซีเปีย ฯลฯ มีแรงบันดาลใจในการผลิตเพลงออกมา ก่อนที่แนวเฮฟวี่นี้จะรู้สึกว่าเชยในเวลาต่อมา เนื่องจากในสมัยนั้นจะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปช้ามากๆ แป๊ปเดียวเพลงมันก็เอาท์ไปแล้ว ก่อนที่แนวอัลเตอร์เนเทีฟร็อคอย่าง ModernDog, Smile Buffalo, Blackhead, Fly และ โลโซ จะแย่งชิงพื้นที่จากเฮฟวี่ร็อครุ่นก่อนหน้าไป แต่กลุ่มศิลปินนี้ก็เปิดกว้างให้กับร็อครุ่นถัดๆ มาอย่าง ซิลลี่ฟูลส์, บอดี้สแลม, พาราด็อกซ์, บิ๊กแอส และเพลงอินดี้ร็อคอื่นๆ ออกผลงานตามมาอยู่เรื่อยๆ
และปิดท้ายด้วยว่าหากจะตอบคำถามเรื่องการวางรากฐาน ส่วนตัวก็คิดว่ากลุ่มบัตเตอร์ฟลาย,เต๋อ เรวัติ และ ผู้บุกเบิกอย่างวงเนื้อกับหนังนี่แหละ เป็นผู้ทำให้วงการร็อคในไทยเติบโตขึ้นมาได้ครับ
อยากจะเขียนอะไรก็เขียนอ่ะครับ แต่ถ้าเขียนผิดหรือตกหล่นไปก็ขออภัยล่วงหน้านะครับ