Skip to content

Heroes – David Bowie เพลงสุดท้ายที่ “พายุหินกูรู” ขอเปิดเป็นเพลงสุดท้ายในชีวิต

เวลาที่ใช้อ่าน : 3 นาที

“พายุหินกูรู” ชื่อในวงการร็อคนนั้นน่าจะทราบกันดีว่าคือ “อารี แท่นคำ” ที่ผมตามอ่านนิตสาร QUIET STORM ตั้งแต่สมัยวัยรุ่น แล้วก็เห็นแกตามหน้าจอทีวีบ้าง (ช่องเนชั่นสักรายการ) จากนั้นโตเข้าสู่วัยทำงานก็เห็นแกตามงานคอนเสิร์ตบ้าง แต่ไม่ได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัวหรอกครับ

จนกระทั่งสักช่วงปี 2009/2010 นี่แหละ… ในช่วงที่มีการชุมนุมของเสื้อแดงต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ ผมก็จับพลัดจับพลูได้รับเกียรติเป็น Friend List แกใน Facebook ก็มีมาคอมเมนท์กันบ้างโดนเฉพาะเรื่องฟุตบอล เพราะแกเชียร์แมนซิตี้ ที่ช่วงนั้นขับเคี่ยวแย่งแชมป์กับแมนยู

จนผมเปลี่ยน Account ไม่อยากให้มีเรื่องการเมืองใน Facebook ส่วนตัวมาก เพราะกลัวจะกระทบเรื่องงาน ก็เลยไม่ได้ข่าวคราวแกอีก จนกระทั่งมารู้ว่าแกป่วยและเสียชีวิตไปในที่สุด

แต่ชาวร็อคยังไงก็เป็นชาวร็อค แกสั่งเสียให้เปิดเพลง “Heroes” ของ David Bowie ให้เป็นเพลงสุดท้ายในการส่งแกขึ้นสวรรค์ ก็เลยเอาเพลงนี้มารำลึกอีกครั้ง

เพลงนี้เริ่มแรกในช่วงออกในเดือน กันยายน 1977 กลับไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควรทั้งในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ เมื่อเทียบกับความมีชื่อเสียงของ David Bowie แล้วในขณะนั้น

โดยก่อนหน้านี้เค้าประสบความสำเร็จอย่างเพลง Space Oddity (1969) กับตำนานของ Major Tom ผู้ท่องอวกาศ, Changes และ Life On Mars? กับอัลบั้ม Hunky Dory (1971), Starman ในบทบาทร็อคสตาร์ไบเซ็กชวลจำแลงจากอวกาศ Ziggy Stardust (1972),  Rebel Rebel (1974), Fame ในอัลบั้ม Young American (1975) ที่มี John Lennon มาร่วมประพันธ์ และ Golden Years จากอัลบั้ม Station to Station (1976) เป็นต้น

ถึงจะมีผลงานที่สร้างสรรค์ระดับตำนานที่หลากหลายแนว แต่เพลง Heroes ก็ยังไม่ดังเปรี้ยงปร้างเท่าที่ควรจะเป็น แต่กลับกันหลังจากนั้น Heroes ได้กลายเป็น signature songs (เพลงลายเซ็นต์) ของ David Bowie เลยทีเดียว ถูกนำไปใช้บ่อยๆ ในงานแข่งกีฬา งานมอบรางวัล หรือ เพลงประกอบภาพยนต์ในหลายๆ เรื่อง อย่างในเรื่อง The Perks of Being a Wallflower (2012)

เนื่องจาก David Bowie เป็นศิลปินที่ยากจะจำกัดความ สร้างตัวตนไว้ได้หลากหลายแนว ประกอบกับความมีชื่อเสียงระดับซุปเปอร์สตาร์ไปแล้วนั้น ก็เริ่มมีสรุาและยาเข้ามาเกี่ยวข้องบ้าง จึงเดินทางไปที่เบอร์ลินตะวันตก ในสมัยที่เยอรมันยังถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่ง ที่มี “กำแพงเบอร์ลิน” กั้นขวาง เยอรมันตะวันออกเอาไว้ โดยไปพร้อมกับทีมงานและโปรดิวเซอร์คู่ใจอย่าง Brian Eno และ Tony Visconti

เยอรมันตะวันตกจะเสรีกว่า เยอรมันตะวันออกที่ถูกปกครองแบบคอมมูนนิสต์โดยโซเวียต มีทหารยามถือปืนเฝ้าอยู่บนหอคอย คอยเล็งปืนยิง หากประชาชนจากฝั่งตะวันออกอยากหนีไปฝั่งตะวันตก แต่เยอรมันตะวันแดงไม่เกี่ยวนะครับงานนี้

การเดินทางครั้งนี้ นัยนึงก็นอกจากจะวางรากฐานแนวดนตรี electronic music ของเขาแบบให้ใช้ได้ถึงทศวรรษหน้ากันเลย แต่อีกนัยนึงก็เพื่อบำบัดการติดเฮโรอีนและการติดสุราเรื้อรังของเค้าเอง

บ่ายวันหนึ่งในเดือนกรกฏาคม 1977 ระหว่างที่ David Bowie อยู่ใน “Hansa Studio by the Wall” และมองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นคู่รักคู่หนึ่งกำลังจูบกันตรงกำแพงเบอร์ลิน โดยมีทหารยามถือปืนยืนอยู่เหนือพวกเขา David Bowie ก็จุดประกายได้ไอเดียในการเขียนเพลงนี้ในทันที

เริ่มแรกในการแต่งเพลงนั้น ในภาคของดนตรีนั้นเสร็จสิ้นเรียบร้อยไปแล้ว ขาดก็แต่เนื้อเพลงนี่หล่ะ ที่ยังแต่งออกมาไม่ได้ Brain Eno ได้เล่าให้ฟังว่า หลังจากได้ฟังดนตรีแล้ว รู้สึกถึงความ ยิ่งใหญ่และความเป็นวีรบุรุษ (Grand and Heroic) แต่ในห้วงความคิดก็มีแต่คำว่า Heroes ติดอยู่ในหัวมากมาย แต่ประพันธ์มันออกมาไม่ได้สักที

เดิมทีคู่รักคู่นั้นเป็นบุคคลนิรนามตามคำนิยามของ David Bowie เรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2007 (30 ปีให้หลัง) Tony Visconti ออกมายอมรับเองว่า เค้าคือชายหนุ่มที่จูบหญิงสาวข้างกำแพงเบอร์ลินในปี 1977 ที่ David Bowie เห็นนั่นเอง แต่หญิงสาวคนนั้นไม่ใช่เมียของ Tony Visconti นะครับ แต่ดันเป็นกิ๊กของเค้าแทนที่ชื่อว่า Antonia Mass นักร้องแจ๊สท้องถิ่นในเบอร์ลิน ซึ่ง Tony Visconti หลงเสียงเธอ จนต้องชักชวนมาร่วมงานในสตูดิโอมาเป็นนักร้องประสานเสียงในเพลง “Beauty And The Beast”

แต่นั้น..ในช่วงที่ David Bowie ต้องการใช้สมาธิในการเขียนเนื้อเพลง จึงขอร้องทุกให้ออกไปจากสตูดิโอก่อนสัก 2 ชั่วโมง หลังจากนั้น Tony Visconti และกิ๊ก Antonia Maass จึงชวนกันเดินไปพักใกล้ๆ กับกำแพงเบอร์ลินหน้าสตูดิโอ และบรรจงจูบกันตรงกำแพงนั่นเอง

“I can remember

Standing By the wall

And the guns shot above our heads

And we kissed As though nothing could fall.”

เพื่อรักษาชีวิตการแต่งงานของเพื่อน David Bowie กลัวว่าเมียเพื่อนจะสงสัยขึ้นมา เค้าจึงอำพรางคู่รักนี้ขึ้นมาว่ามาจากในจินตนาการของเค้า

Tony Visconti กับภรรยา Mary Hopkins

เนื้อร้องพร้อม ดนตรีก็พร้อม ในส่วนของการบันทึกเสียง  Tony Visconti ได้วางไมโครโฟนทั้งระยะใกล้ และไกล ซึ่งหาก David Bowie ร้องเสียงเบาๆ ไมโครโฟนตัวที่ใกล้จะบันทึกเสียงไว้ หากร้องเสียงดังขึ้นมา ตัวที่อยู่ห่างออกไปจะเริ่มบันทึกอัตโนมัติเช่นกัน เลยได้ฟังการบันทึกเสียงร้องแบบมิติใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน

จึงแนะนำให้ฟังเวอร์ชั่นในอัลบั้มมากกว่า ในความยาว 6 นาที David Bowie จะเริ่มร้องด้วยเสียงซอฟท์ๆ ก่อนที่จะเปล่งเสียงออกมาจนเหมือนตะโกนในตอนท้าย

ส่วนเวอร์ชั่นแบบที่ออกอากาศในวิทยุนั้น จะเริ่มด้วยการแผดเสียงตั้งแต่แรก

ส่วนความหมายของเพลง Heroes นั้น คงถูกจำกัดความหมายถึงเพลงรัก รักที่ไม่อาจเป็นไปได้ (อย่างเช่น Tony Visconti กับ Antonia Mass ที่สุดท้ายแล้วมันก็ต้องจบลงอยู่ดี)  แต่ก็ขอรักกันแบบว่าอาจจะไม่มีวันพรุ่งนี้ ขอรักกันวันนี้วันเดียวก็ยอม และจะไม่ยอมให้อะไรมาขัดขวางความรักวันนี้ได้เลย – Just for one day.

Berlin Period “ช่วงเวลาในเบอร์ลิน” เค้าได้สร้างผลงานออกมาถึง 3 อัลบั้ม ได้แก่ Low (1977), “Heroes” (1977) และ Lodger (1979) ที่มักจะเรียกกันว่า Berlin Trilogy “ไตรภาค เบอร์ลิน” แม้จะคุณค่ามหาศาลในแง่ของงานศิลปะ แต่กับในเชิงพาณิชย์แล้วล้มเหลวเป็นอย่างมาก ก่อนที่จะมุ่งไปสู่ความสำเร็จในยุค 80’s อย่าง Scary Monsters (and Super Creeps) (1980) ที่แสดงให้เห็นถึงความสมดุลย์ระหว่าง “พาณิชย์” และ “ศิลปะ” มากขึ้น


แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *