Skip to content

วงร็อคผิวสี “Living Colour” กับ “ลัทธิบูชาบุคคล”(Cult of Personality)

เวลาที่ใช้อ่าน : 2 นาที

ช่วงสมัยวัยรุ่นเคยมีเพื่อนเป็น American ผิวดำ มีวัฒนธรรมฮิป-ฮอปอยู่เต็มตัว ก็ไปไหนมาไหนขับรถเที่ยวด้วยกันประมาณนึง

มีวันนึงผมก็เปิดกระเป๋าซีดีในรถของเพื่อนดู แล้วเพื่อนคนนี้มันก็แซวผมว่า “นายไม่สนใจมันหรอก มันไม่มีร็อคแอนโรลอยู่ในนั้นหรอกนะ”

ตอนนั้นก็เลยสงสัยนิดๆ คนดำนี่เค้าไม่ฟังร็อคกันเลยหรือไง… คนขาว, คนเอเซีย หรือ เม็กซิกัน ก็ยังฟังฮิป-ฮอปกันได้เลย

ปกติโดยทั่วไป ดนตรีฮาร์ดร็อค/เมทัล หานักดนตรีผิวสีที่สนใจแนวนี้ได้น้อยมากนัก ส่วนใหญ่จะไปสายแจ๊ซ,ฟั้งก์ หรือ บลูส์ ถ้าจะให้ใกล้เคียงร็อคที่สุด

แม้ว่าช่วงยุค 50’s Chuck Berry, Little Richard, Big Maybelle และ Big Joe Turner ซึ่งผู้บุกเบิกดนตรี Rock n’ Roll เป็นผิวสีก็ตาม แต่เมื่อราชาคิงออฟร็อคอย่าง Elvis Presley ปรากฏขึ้นมา เหล่าผิวสีก็เริ่มเจือจางห่างหายในดนตรีร็อคไปบ้าง

ถัดมาในช่วงยุค 70’s พระเจ้าก็ส่งคนอย่าง Jimi Hendrix มา แต่ก็เอากลับไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน ทำให้นักดนตรีร็อคผิวสีนั้นหายากเหลือเกิน

นอกนั้นที่พอนึกออกก็จะมีแบบลูกครึ่งผสมอย่าง Slash, Prince, Lenny Kravitz ประมาณนี้

แต่ก็มีอีกวงนึงที่ผิวสีทั้งวง แต่สไตล์การเล่นดนตรีนั้นเอนเอียงไปทางฮาร์ดร็อคเป็นอย่างมาก นั่นก็คือวง “Living Colour – ลิฟวิ่ง คัลเลอร์”

Cult of Personality – “ลัทธิบูชาบุคคล” เพลงดังของวง

วง Living Colour มีเพลงที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง คือเพลง Cult of Personality ในอัลบั้มแรกของพวกเค้า (Vivid, 1988) ที่ทะยานติดชาร์ทบิลบอร์ด ได้รับรางวัลแกรมมี่อะวอร์ดสาขาฮาร์ดร็อคยอดเยี่ยมในปี 1990 มิวสิควีดีโอก็ได้จาก MTV ไปสองรางวัล

จุดเด่นของเพลงนี้แค่เริ่มอินโทรด้วยริฟฟ์ก็ฮาร์ดร็อคจ๋ามาเลย เสียงนักร้องก็โคตรร็อค ท่อนโซโล่ของเพลงก็โคตรยอดเยี่ยม ไม่แน่จริงไม่ติดอันดับ 100 กีต้าร์โซโล่ใน Guitar World’s แน่ๆ และไม่ได้มีกลิ่นอายในดนตรีที่เรามักพบในนักร้อง/นักดนตรีผิวสี

ส่วนชื่อเพลงนั้นนำมาจากหนังสือ “ว่าด้วยลัทธิบูชาบุคคลและผลลัพธ์ของมัน” (On the Cult of Personality and Its Consequences) ของอดีตผู้นำรัสเซีย “นีกีตา ครุชชอฟ”

ในระหว่างที่วงกำลังซ้อมดนตรีกันอยู่นั้น นักร้องของวง Corey Glover ก็ฮัมเพลงนี้พึมพำไป มือกีต้าร์ Vernon Reid ก็เปิดสมุดโน้ตเล่มเล็กของเค้า ที่บันทึกที่เค้าเขียนไว้สำหรับสร้างแรงบันดาลใจ จนไปเจอที่เขียนไว้ว่า..​. “Look in my eyes, what do you see? The cult of personality.”

เพลงนี้ยังเป็นธีมประจำตัวของนักมวยปล้ำ WWE อย่าง CM PUNK อีกด้วย

ความหมายของเพลง Cult of Personality

Vernon Reid พูดถึงแนวความคิดของเพลงนี้คือ “ลัทธิบูชาบุคคล” จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับเซเลปทางการเมือง

รวมถึงการก้าวข้าม “การเป็นคู่” เช่น คู่ของคนดีและคนเลวนั้น ในส่วนของความดีและความไม่ดีนั้น มีอะไรที่เหมือนกันบ้าง? หรือมีอะไรบางอย่างที่ทำให้คานธีและมุสโสลินี นั้นดูเหมือนเป็นคนๆ เดียวกัน?(เปรียบเทียบ คานธี = ดี / มุสโสลินี = เลวร้าย) และคิดว่า “ความสามารถพิเศษ” น่าจะกำหนดให้พวกเขาเป็นตัวตนแบบนั้น

แม้ใจความของเนื้อเพลงส่วนใหญ่ เหมือนจะต่อต้านการบูชาบุคคล แต่ในเนื้อเพลงก็มีอยู่ท่อนนึงกล่าวไว้ว่า “A leader speaks, that leader dies” (ผู้นำพูด, ผู้นำคนนั้นก็ตาย) เป็นการพยายามแสดงให้เห็นว่า ไม่มีความแตกต่างกันในระหว่าง “ความดี” และ “ความชั่วร้าย” เมื่อพวกเขาพูดถึง “ฮีโร่” ในเนื้อเพลงก็จะจับคู่กับ “ศัตรู” นั่นคือ “Like Mussolini and Kennedy / Like Joseph Stalin and Gandhi”

แต่ส่วนตัวก็เข้าใจในเพลงนี้ง่ายๆ ว่าเป็นเพลงกึ่งๆ “อณาธิปไตย” ที่ไม่ต้องการเชื่อฟังผู้นำคนใดคนนึงมาชี้นำ หรือหากอยากจะเชื่อฟังก็ควรเชื่อแบบมีสติ ไม่หลับหูหลับตาเชื่อ คนที่เรานับถือนั้นสามารถเชื่อถือได้ 100% 

เพราะสุดท้ายแล้ว สิ่งที่น่าเชื่อถือที่สุดนั้นคือตัวเรานั่นเอง

ในเพลงนี้ตอนต้นเพลงจะเริ่มด้วยสุนทรพจน์ “Message To The Grass Roots” ของนักพูด/นักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิมและชาวอเมริกันผิวดำ “Malcolm X” ในปี 1963

“And in the few moments we have left, we want to talk right down to earth in a language that everybody here can easily understand.”
“และในอีกไม่กี่อึดใจเราก็อยากจะพูดคุยกันบนโลกด้วยภาษาที่ทุกคนที่นี่สามารถเข้าใจได้ง่าย”

ช่วงท้ายเพลงจะมีสุนทรพจน์จากอดีตประธานาธิบดีสหรัฐ 2 คนด้วยกัน
John F. Kennedy กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ปี 1961

“Ask not what your country can do for you, but what you can do for your country.”
“จงอย่าถามว่าประเทศชาติจะให้อะไรแก่ท่าน แต่จงถามตัวเองว่าท่านจะทำอะไรให้ประเทศชาติ”

Franklin D. Roosevelt ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งครั้งแรกในปี 1933

“The only thing we have to fear is fear itself,”
“สิ่งเดียวที่เราต้องกลัวคือกลัวตัวเอง”

สุนทรพจน์จากสองคนแรกนั้น ภายหลังถูกลอบสังหารทั้งคู่ (Malcolm X ปี 1965 / John F. Kennedy ปี 1963)

ส่วนของ Roosevelt กล่าวตอนประกาศโครงการ “ข้อตกลงใหม่” (New Deal) ของเขา เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้พลเมืองสหรัฐเอาชนะปัญหาทางเศรษฐกิจ ในยามที่ประเทศอยู่ในภาวะท้อแท้


แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *