Skip to content

Highly Evolved อัลบั้มที่พีคแค่อัลบั้มเดียว และ ความน่าเสียดายของวง The Vines

เวลาที่ใช้อ่าน : 3 นาที

ย้อนไปสักช่วงต้นปี 2000 จำได้ว่าช่วงนั้นตัวเองกำลังหลงไหลกระแสดนตรี Nu Metal อย่าง Limp Bizkit, Korn, Papa Roach หรือ Slipknot ไม่ก็กระแส Pop Punk อย่าง Blink-182, SUM41 หรือ Avril Lavigne

แต่ก็มีอีกดนตรีอีกกระแสนึง ที่กำลังจะกลับมาเป็นกระแสอีกครั้งหลังจากห่างหายไปช่วงปี 60’s ที่เรียกกันว่า​“อินดี้ร็อค” หรือแนว Post-punk/garage rock ประมาณนั้นแหละครับ เท่าที่นึกออกก็จะมี The White Stripes, The Strokes, Jet, The Hives, The Libertines แล้วก็ The Vines

ช่วงปีนั้นมีอินเตอร์เน็ตใช้แล้วล่ะ แต่ก็ไม่ได้ค้นหาอะไรง่ายๆ แบบเมื่อไหร่ก็ได้เหมือนในตอนนี้ การอยากจะหาอัลบั้มนึงมาฟัง ถ้าไม่ได้ยินจากทีวีหรือวิทยุ ก็คงเป็นนิตยสารนั่นแหละครับ หลังจากได้ยินชื่อวง The Vines ผ่านตาจากนิตยสาร Kerrang! ก็ได้ยินกิตติศัพท์และคำชมเชยถึงวงนี้เป็นอย่างมาก แต่ก็ไม่เคยฟังเพลงวงนี้สักที ตอนซื้อ CD อัลบั้ม Highly Evolved มาฟังนี่ กะว่าฟังเอาดาบหน้าเลยทีเดียว

ปี 2002 The Vines ออกอัลบั้มแรก Highly Evolved ก็ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว การันตีด้วยนิตยสารดนตรีชื่อดังจากอังกฤษอย่าง NME (New Musical Express) เลือกเพลง “Highly Evolved” เป็นซิงเกิ้ลประจำสัปดาห์ในเดือนมีนาคม 2002 และ โหวตให้เป็นอัลบั้มยอดเยี่ยมแห่งปี 2002 ในอันดับที่ 2 (อันดับ 1 เป็น A Rush Of Blood To The Head ของ Coldplay) รวมถึงรางวัล ARIA Music Awards ในออสเตรเลีย ในฐานะศิลปินหน้าใหม่ยอดเยี่ยม และเพลง “Get Free” ก็ได้รางวัลซิงเกิ้ลยอดเยี่ยมเช่นกัน

และยังทำอันดับได้สูงสุดลำดับที่ 3 ในชาร์ทที่เกาะอังกฤษ และ อันดับที่ 11ในชาร์ทบิลบอร์ด200 ของอเมริกา โดยอัลบั้มนี้ยังถูกบรรจุในหนังสือ “1001 Albums You Must Hear Before You Die”(1001 อัลบั้มที่ต้องหามาฟังก่อนตาย) และถูกจัดไว้ในหนังสือ “100 Best Australian Albums”(100 อัลบั้มยอดเยี่ยมของออสเตรเลีย) รวมถึงทางวงได้ไปเล่นในรายการ  Late Show with David Letterman และงานมอบรางวัล MTV Video Music Awards  

แนวดนตรีในอัลบั้มจะผสมผสานความเป็นกรั้นจ์ร็อคแบบ Nirvana และ ป๊อปยุค 60 จากอังกฤษ ได้อย่างลงตัว ใน 1 อัลบั้มเราจะได้ยินแนวกรั้นจ์ร็อคสลับกับป๊อปร็อคแบบ British Invasion พร้อมด้วยกลิ่นอายของไซคีลีดิคหน่อยๆ 

เพลงที่แนะนำให้ลองฟังในแนวกรั้นจ์แบบที่รู้สึกได้ถึงอารมณ์เกรี้ยวกราดในแบบฉบับ เคิร์ท โคเบน คือเพลง “Get Free” และ “Outtathaway!”  โดยเพลง “Get Free” เราอาจจะได้ยินอินโทรกีต้าร์ผ่านหูทางช่อง 3 บ้างในตอนกลางคืน เพราะเป็นเพลงประกอบรายการ “ของฝากนักกอล์ฟ” หรืออาจจะได้ยินจากในเกมส์ Guitar Hero กับ FARCRY5 

มิวสิควีดีโอเพลง “Get Free” กำกับโดย Roman Coppola ซึ่งเป็นลูกชายของผู้กำกับดังจาก The Godfather, Francis Ford Coppola

เพลง “Sunshinin” อีกหนึ่งเพลงที่ชอบมากเป็นการส่วนตัว ด้วยทำนองแบบไซคีลีดิคยุค 70’s-เดินเบสแบบแนวเคราต์ร็อก (Krautrock) 

เพลง “Factory” ซิงเกิ้ลแรกของวงก่อนที่จะเอามาใส่ในอัลบั้มเต็มอีกครั้ง เพลงนี้เป็นแนวป็อปร็อคอย่างกับเอา เซอร์เอลตัน จอห์น กับวง Supergrass มาร่วมทำเพลงในแนวเดียวกับ “Ob-La-Di, Ob-La-Da.” ของ The Beatles ใน White Album ยังไงยังงั้น

แนะนำให้ลองฟังทั้งอัลบั้มเลยนะครับ มันมีเพลงดีๆ อีกหลายเพลง อย่างเพลงบัลลาดก็เพราะกินใจ ปนเศร้าหมองใช้ได้เลยครับ

เบื้องหลังความสำเร็จของ The Vines

Craig Nicholls ฟร้อนท์แมนและผู้ก่อตั้งของวง ทำงานในนาม The Vines ตั้งแต่อัลบั้มแรก “Highly Evolved” ในปี 2002 จนถึงอัลบั้มล่าสุด “In Miracle Land” ในปี 2018 รวมทั้งหมดมี 7 สตูดิโออัลบั้ม กับอีก 1 อัลบั้มรวมฮิต สมาชิกในวงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด มีสมาชิกผ่านเข้ามามากหน้าหลายตา มีแต่เครก นิโคลส์ คนเดียวเท่านั้นที่มีชื่ออยู่ในวงไม่เคยเปลี่ยนแปลง

ย้อนไปปี 1994 เครก นิโคลส์ อายุได้ 17 ปีก็เริ่มฟอร์มวงกับมือเบส แพทริค แมททิวส์ (Patrick Matthews) ที่ทั้งคู่ทำงานในแมคโดนัลด์แถบชานเมืองทางตอนใต้ของซิดนี่ย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งทั้งคู่หาอาชีพเสริมเพื่อเป็นทุนการศึกษา โดยเครก เรียนทางด้านการวาดภาพและศิลปะ ส่วนแพทริคสนใจศึกษาทางด้านการแพทย์

ด้วยการชื่นชอบศิลปินแนวกรั้นจ์ร็อค Nirvana จากฝั่งอเมริกาเป็นอย่างมาก ทั้งคู่ก็เลยฟอร์มวง 4 ชิ้นเล่นเพลงคัฟเวอร์ของ Nirvana และวง You Am I ตามงานปาร์ตี้ ซึ่งตอนนั้นใช้ชื่อวง “Rishikesh” แต่ด้วยความสับสนของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไปเขียนชื่อวงว่า “Rishi Chasms” คงด้วยด้วยสับสนเพราะ Rishikesh (ฤษีเกศ) คือเมืองในอินเดียที่เหล่าสี่เต่าทองไปค้นหาจิตวิญญาณกันที่เรียกว่า Ashram (อาศรม) นักข่าวเลยเอาสองคำมารวมกันโดยไม่ได้ตั้งใจล่ะมั้งครับ

เครก นิโคลส์ เลยตัดสินใจเปลี่ยนชื่อวงเป็น The Vines โดยเอาชื่อนี้มาจากวงดนตรีท้องถิ่นของพ่อตัวเองคือ The Vynes เพียงแค่สะกดคำต่างกัน

จากที่เล่นคัฟเวอร์อยู่ 6-7 ปี แต่ก็ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แม้แต่ในท้องถิ่นเองก็เถอะ แต่กระนั้น เครกก็เริ่มแต่งเพลงเก็บไว้ประมาณ 30 เพลง และได้มีโอกาสปล่อยซิงเกิ้ลแรก “Factory” โดยค่าย Rex Records ของออสเตรเลีย ก็เลยเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยมีสื่ออย่าง NME เริ่มเขียนเชียร์บ้างแล้ว

จากนั้นโอกาสได้ทำอัลบั้มแรกของตัวเองก็มาถึง ในปี 2001 บินไปบันทึกเสียงถึงลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา และได้ Rob Schnapf มาเป็นโปรดิวเซอร์ให้ แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน David Olliffe มือกลองของวงที่อยู่กันมาตั้งแต่เริ่ม ก็มีปัญหาจนต้องถอนตัวไประหว่างการบันทึกเสียง ซึ่งกลองยังอัดไม่เสร็จ ทางโปรดิวเซอร์ก็เลยต้องใช้งานมือปืนรับจ้างอย่าง Joey Waronker (R.E.M. กับ Beck) กับ Pete Thomas (แบคอัพให้กับ Elvis Costello) มาช่วยบันทึกเสียงกลองที่เหลือ

ความสำเร็จที่มาเร็วและอาการป่วยของเครก นิโคลส์

หลังจากปี 2002 ความสำเร็จของอัลบั้ม “Highly Evolved” ทำให้วง The Vines โด่งดังรวดเร็วเพียงชั่วข้ามคืน จากเด็กทอดเบอร์เกอร์ในแมคโดนัลด์กับวงคัฟเวอร์แทบไม่เป็นที่รู้จักในออสเตรเลีย ก็มีชื่อเสียงข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังอังกฤษ ยุโรป และ อเมริกา ด้วยยอดขายระดับแพลทตินั่ม

และยังเป็นวงดนตรีจากออสเตรเลียที่ได้ขึ้นปกนิตยสาร Rolling Stone ในรอบ 19 ปี พาดหัวตัวหนาๆ ว่า “Rock is Back: Meet the Vines” (ร็อคกลับมาแล้ว:พบกับเดอะไวนส์) ซึ่งดูแล้วในช่วงปีนั้น วงการดนตรีคงตื่นเต้นกับแนวร็อคที่เคยโด่งดังอย่าง Nirvana ที่ห่างหายไปเกือบ 10 ปี ได้กลับมาสร้างสีสรรอีกสักที

นั่นทำให้เริ่มถูกจับตามองจากสื่อมากยิ่งขึ้น ก็เป็นอันเข้าใจได้ว่ากลุ่มเด็กอายุ 25 – 26 ปี ก็มารับความกดดันในหลายๆ อย่าง ก็เริ่มออกอาการปรากฏให้เห็นบ้าง โดยเฉพาะคนที่มีจิตใจอ่อนแออย่าง เครก นิโคลส์

ในวัยเด็ก เครก นิโคลส์ เติบโตในแบบไม่ค่อยมีเพื่อน ไม่เข้าสังคม เค้าอาศัยการฟังเพลงอย่าง The Beatles, วาดภาพ และ เล่นสเก็ตบอร์ด เก็บตัวอยู่แต่ในบ้านกับเสียงดนตรีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นโลกส่วนตัวของเครกในวัยเยาว์

บวกกับอาการ Asperger’s Syndrome และการใช้ยาเสพติดของเครก ทำให้แสดงพฤติกรรมออกมาแปลกๆ เช่น ขังตัวเองไว้ในห้องน้ำ 3 ชั่วโมงก่อนเริ่มขึ้นแสดง, คุยแต่เรื่องการฆ่าตัวตายในระหว่างการสัมภาษณ์กับสื่อ, เตะมือเบสในระหว่างโชว์ ฯลฯ

หรืออย่างการแสดงโชว์สำหรับแฟนเพลงเฉพาะกิจสี่ร้อยกว่าคน จัดโดยคลื่นวิทยุ Triple M ในปี 2004 ในระหว่างกำลังทำการแสดง เครก นิโคลส์ บ่นให้คนดูได้ยินประมาณว่า

“พวกคุณไม่ควรคุยกันระหว่างเรากำลังแสดงนะ”

เมื่อเครกได้ยินเสียงผู้ชมหัวเราะ เค้าก็ถามกลับไปอีกว่า

“พวกมึงหัวเราะทำห่าอะไรกัน? เป็นแพะกันหรือไง? งั้นทำเสียงแบบแพะเลยดิวะ”

รวมถึงเตะกล้องของช่างภาพเกิดความเสียหายอีกด้วย 

แฟนเพลงของวงรายนึงถึงกับบอกว่า “ผู้ชมพากันกลัวพฤติกรรมของเครก นิโคลส์กันมาก ตอนแรกก็คิดว่าเป็นการแสดง แต่พอเหตุการณ์เริ่มชัดเจนก็รู้แล้วล่ะว่าเรื่องจริง บางทีมันก็เหมือนในหนังเกี่ยวกับวงดนตรี ในตอนที่วงกำลังดิ่งลงเหวเหมือนกันนะ” 

เหตุการณ์นั้นทำให้ มือเบส แพทริค แมททิวส์ เดินออกจากเวทีและหันหลังให้กับวงไปเลย โดยกว่าจะกลับมาเล่นกับ The Vines อีกก็ 14 ปีให้หลัง และคลื่นวิทยุ Triple M ก็ระงับการแสดงนี้ไม่ให้ออกอากาศ ประกอบกับอารมณ์ที่ไม่แน่นอนของเครก นิโคลส์เอง ทำให้โดนยกเลิกทัวร์โปรโมทอัลบั้มที่สอง “Winning Days” ในออสเตรเลีย, อเมริกา และ ยุโรป ตามมา

ทำให้วงที่กำลังเป็นดาวรุ่ง เป็นที่จับตามองของนักวิจารณ์ ดำดิ่งไปในที่สุด แม้อัลบั้ม Winning Days ไม่ได้แย่ แต่ก็ไม่ได้ดีเท่าอัลบั้มแรก เพราะการหันหลังให้กับพฤติกรรมของเครกจากสื่อ ก็เลยไม่ได้รับแรงสนับสนุนเหมือนแต่ก่อนแล้ว กลับกันสื่อและนักวิจารณ์ไปจับตามองวงจากประเทศเดียวกันอย่าง Jet  ซึ่งภายหลังวงนี้ประสบความสำเร็จเหนือ The Vines ไปในที่สุด

นึกแล้วก็น่าเสียดาย ที่อาการ Asperger’s Syndrome และการทำตัวของเครก นิโคลส์ ทำให้วง The Vines ไปไม่ถึงจุดที่ควรจะเป็นมากกว่านี้ แม้จะมีผลงานออกมาอยู่สม่ำเสมอ แต่ก็ยังไม่เห็นความโดดเด่นได้อย่างในอัลบั้มแรก โดยเครกและครอบครัวก็พยายามรักษาอาการดังกล่าวอยู่ตลอดเวลา ปี 2014 เค้าได้ให้สัมภาษณ์ว่า ที่เค้าทำตัวแย่ๆ ไปแบบนั้นเพราะเค้าคิดว่ามันเท่ ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ มันดูเป็นการกระทำที่ไม่โตเอาซะเลย ตอนนี้ดนตรีเป็นสิ่งเดียวที่รักษาความเป็นตัวเองที่เหลืออยู่ในตอนนี้แค่นั้น


แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *