Skip to content

[รีวิว] The Thin Red Line : เดอะ ทิน เรด ไลน์ ฝ่านรกยึดเส้นตาย (1998)

เวลาที่ใช้อ่าน : 3 นาที

The Thin Red Line (เดอะ ทิน เรด ไลน์ ฝ่านรกยึดเส้นตาย) หนังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ออกฉายในปี 1998 ซึ่งเป็นปีเดียวกับหนังระดับตำนานของพ่อมดฮอลลีวูด สตีเว่น สปีลเบิร์ก ที่เกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 เหมือนกันอย่าง “Saving Private Ryan” ทำให้ยากที่จะเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้

แต่สิ่งที่ผู้กำกับ เทอร์เรนซ์ มาลิค ต้องการนำเสนอในหนังของเค้านั้นแตกต่างจากหนังของ สปีลเบิร์กอย่างสิ้นเชิง

ใน Saving Private Ryan สร้างความให้รู้สึกรักชาติแบบอเมริกันฮีโร่,​ ฉากสงครามแอ็คชั่นที่สมจริง, เนื้อเรื่องนำให้ผู้ชมอินเข้าถึงอารมณ์ร่วมได้อย่างดี 

แต่กับ The Thin Red Line กลับแทบจะไปตรงกันข้ามทั้งหมด ที่สื่อไปแนวทางปรัชญาเสียมากกว่าที่ออกไปทางต่อต้านสงครามเสียด้วยซ้ำ แสดงให้เห็นความขัดแย้งของภาพธรรมชาติสวยๆ กับ การทำลายล้างกันเองของมนุษย์ด้วยกัน, การเข้าใจจิตใจคน, การสูญเสีย และ การเสียขวัญ ในสงคราม

สื่อให้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้กำลังสู้รบเพื่อชาติ หรือ ประชาธิปไตย แต่ต่อสู้เพราะว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำตามคำสั่ง และ เพื่อความอยู่รอดเท่านั้นเอง

ตรงนี้จะเห็นภาพชัดเจนในความต้องการอยู่รอดไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยุทธวิธี หรือ การทำตามแรงปราถนาของปัจเจกบุคคล ซึ่งในหนังไม่ได้บอกเลยว่า ถูกหรือผิด ซึ่งปรัชญาเหล่านี้มันก็มีอยู่ในชีวิตจริง

อย่างพันโท Tall (แสดงโดย Nick Nolte) ต้องการแสดงความสามารถให้กับผู้บังคับบัญชาให้เห็นถึงความต้องการยึดเกาะและจุดยุทธศาตร์สำคัญให้ได้มา ไม่ว่าต้องแลกด้วยอะไรก็ตาม ซึ่งการได้มาอันนี้นอกจากความได้เปรียบทางสงครามแล้ว ยังเป็นการไต่เต้าของพันโทอีกด้วย

ซึ่งพันโท Tall ได้สั่งไปยังผู้ใต้บังคับบัญชาของเค้า อย่างผู้กอง Staros (แสดงโดย Elias Koteas) ให้เดินหน้าบุกอย่างเดียวไม่สนใจการสูญเสีย ซึ่งแม้ผู้กองจะไม่เห็นด้วยและแนะนำวิธีอื่นก็ตาม พันโทก็ไม่ได้ฟังอยู่ดี ซึ่งเป็นเส้นบางๆ ระหว่างความเด็ดขาดกับความมีเมตตา

ดูๆ ไปก็เหมือนการเป็นผู้นำของแต่ละแบบในการทำงานนั่นแหละครับ ไม่ว่าจะแบบไหน แต่ละแบบแต่ละคนก็มีจุดหมายปลายทางไม่ต่างกัน แต่วิธีการอาจต่างกันเท่านั้นเอง

หนังเรื่องนี้มีความยาวเกือบ 3 ชั่วโมง ด้วยความเป็นดราม่ามากกว่าแอ็คชั่น และอาจถูกเข้าใจผิดหรือเหมารวมจากโปสเตอร์หน้าหนัง รวมถึงดารานักแสดงที่มีมากอย่างคับคั่งนั้น อาจทำให้แฟนๆ หนังสงครามหวังที่จะเห็นความบู๊ล้างผลาญผิดหวังเข้าไปอีกก็ได้ ให้คิดว่าเป็นหนังสอนปรัชญามากกว่าสงคราม จะดีเสียกว่านะครับ

จุดเด่นหลักๆ ของเรื่องนี้จะเป็น เนื้อหาเชิงปรัชญา กับ ภาพสวยๆ ที่ผู้กำกับใช้งานตากล้องอย่าง John Toll มาถ่ายทอดภาพของความขัดแย้งกันระหว่างความสวยงามของธรรมชาติกับการทำลายล้างของสงครามอย่างที่ผู้กำกับตั้งใจ ดนตรีประกอบภาพยนต์ด้วยฝีมือ Hans Zimmer อ้อ…ด้วยความที่เป็นหนังสอนปรัชญา หนังเรื่องนี้เลยไม่มีบทพระเอกนะครับ ดาราที่เกณฑ์มาคับคั่งนั้นบางคนเป็นแค่ตัวประกอบแค่นั้นเอง

ดาราที่ว่าคับคั่งมีใครบ้าง?

Sean Penn, Adrien Brody, Nick Nolte, George Clooney, John Cusack, Woody Harrelson, Jared Leto, John C. Reilly, John Travolta, Jim Caviezel, Ben Chaplin, Elias Koteas และมีอีกนะ คิดว่าคับคั่งมั้ยล่ะครับ

ผู้กำกับเทอร์เรนซ์ มาลิค ห่างหายไปจากวงการถึง 20 ปี ก่อนที่จะกลับมาสร้างเรื่องนี้นั้น ซึ่งก็ไม่รู้แกหายไปไหนมา รู้แต่ว่าหนังของแกจะมีลายเซ็นต์เฉพาะตัวพอประมาณ ด้วยความที่แกเป็นสายหนังอาร์ท ว่ากันว่าหนังเรื่องนี้ดูง่ายและขายได้มากที่สุดเรื่องนึงแล้ว และเดาว่าดาราชื่อดังบางคนมีซีนแค่ 2 นาทีนั้น คงเป็นเหตุผลทางการตลาดแน่ๆ

แต่ที่ว่าขายได้มากที่สุดแล้ว ทำเงินไปได้ประมาณ $98 ล้าน จากทุนสร้าง $52 ล้าน ซึ่งว่ากันว่า เป็นหนังอาร์ทที่ทุนสร้างสูงเรื่องนึงเลยล่ะครับ

หากต้องเทียบความสำเร็จทั้งเงินทั้งกล่องแล้ว การที่ได้เข้าชิงรางวัลออสก้าถึง 7 รางวัลแต่ก็วืดทุกรางวัลขณะที่ Saving Private Ryan เข้าชิง 11 รางวัลคว้ามาได้ 5 รางวัล กับรายได้ทั่วโลกอยู่ที่ $481 ล้าน กับทุนสร้าง $70 ล้าน ดูแล้วยังห่างไกลจากหนังของสปีลเบิร์กอยู่มากโขเหมือนกัน

หากลองวัดกันดูแล้ว หนังเรื่อง The Thin Red Line เป็นหนังที่เฉพาะทางสำหรับบางกลุ่มจริงๆ ล่ะครับ ทั้งรางวัล,​รายได้, คะแนนตามเว็บไซต์ต่างๆ เป็นข้อพิสูจน์แล้ว ถ้าจะให้ผิดก็น่าจะผิดที่มาผิดช่วงเวลามาทับซ้อนกับหนังของสปีลเบิร์กนั่นแหละครับ

สามารถรับชม The Thin Red Line ได้ที่ทาง Netflix จะอยู่ในหมวดหนังรางวัลนะครับ ลองเปิดดูแล้วจะมีแต่ได้ ไม่น่าจะรู้สึกเสียเวลาสามชั่วโมงหรอกครับ