Skip to content

[รีวิว] A Taxi Driver : แท็กซี่เพื่อชีวิต (2017)

เวลาที่ใช้อ่าน : 2 นาที

หนังเข้าใหม่ใน Netflix แต่ว่าเรื่องเก่าแล้วตั้งแต่ปี 2017 แต่เพิ่งได้มีโอกาสได้ดูและรู้สึกว่าคุ้มค่าจริงๆ ที่ได้ดูเรื่องนี้ นั่นคือหนังเกาหลีเรื่อง “A Taxi Driver ชื่อไทย แท็กซี่เพื่อชีวิต” เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในเกาหลีในปี 1980 ที่นักข่าวชาวเยอรมัน Jürgen Hinzpeter และคนขับแท็กซี่ชาวเกาหลี Kim Sa-bok ร่วมมือกันเพื่อเปิดเผยเหตุการณ์ที่แท้จริงในการจลาจลที่เมืองควังจู

ในขณะที่สร้างจากเรื่องจริงนั้น แต่พอมาเป็นภาพยนตร์ก็ถูกดัดแปลงเพื่อเพิ่มอรรถรสเข้าไปพอสมควร ทั้งตัวตนที่แท้จริงของ “คิมซาบก” ในหนังนั้นจะเป็นชื่อ “คิมมันซอบ” แท็กซี่คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว รวมถึงเหตุการณ์ประท้วงบางส่วนในภาพยนตร์นั้นก็ถูกเสริมเติมแต่งเข้าไปพอควร แม้ว่าจะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง แต่ในภาพยนตร์นั้นก็ไม่สามารถอิงประวัติศาสตร์ได้แต่อย่างใด

กลับมาที่ตัวละครในหนัง จะเน้นไปที่ตัวเอกสองคนนี้เป็นหลัก คือ “คิมมันซอบ” และนักข่าวต่างเยอรมัน “เจอร์เก้น ฮินซ์ปีเตอร์” โดยในตอนแรก ตัวละครของคิมดูเหมือนไปทางพวก Antihero (ตัวเอกปฏิลักษณ์) เสียด้วยซ้ำ ที่แสดงออกถึงการไม่ค่อยสนใจการประท้วงมากกว่าปากท้องและครอบครัวของตัวเอง แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ หนังก็เริ่มแสดงเหตุและผลที่จะทำให้ คิมคนขับแท็กซี่เข้าถึงเจตนารมณ์และอดุมการณ์ของผู้ประท้วงได้มากขึ้น ในทางขณะเดียวกันตัวละครของ “ฮินซ์ปีเตอร์” ก็ยังคงแน่วแน่ในการเสี่ยงชีวิตของเขาพร้อมกับกล้อง Sony Portapak เพื่อให้ได้ภาพกลับมาบอกให้โลกรู้ ถึงความโหดร้ายที่รัฐบาลเกาหลีกระทำต่อประชาชน

ในส่วนของโปรดักชั่นของหนังทำออกมาได้น่าประทับใจอย่างมาก ภาพออกมาย้อนอดีตในยุค 1980 ของเกาหลีได้อย่างสมจริงแบบเชื่อได้ ไม่ได้รู้สึกประดักประเดิดแต่อย่างใด การแสดงของตัวละครสมทบทุกคนนั้นก็ถ่ายทอดออกมาได้ยอดเยี่ยม โดยเฉพาะการแสดงของซงคังโฮที่แสดงเป็นคิมคนขับแท็กซี่ ได้ธรรมชาติมากๆ ส่วนโครงเรื่องและการดำเนินเรื่องทำออกมาในจังหวะที่ลงตัวดีมากๆ ไม่รู้สึกเวิ่นเว้อยืดยาวน่าเบื่อออกมาให้เห็น ทำให้ผู้ชมมีส่วนร่วมและอินไปกับเรื่องราวจนจบ แม้ว่าหนังที่สร้างจากเรื่องจริงนั้นเราจะรู้จุดจบและเรื่องนี้ก็ค่อนข้างดำเนินตามสูตรสำเร็จหนังทั่วไปก็ตาม

เรื่องจริงของคนขับแท็กซี่เพื่อชีวิต “คิมซาบก” (Kim Sa-bok)

ในหนังนั้นคนขับแท็กซี่ชื่อ “คิมมันซอบ” และช่วงท้ายๆ เค้าได้ให้ชื่อปลอมไปกับนักข่าวว่า “คิมซาบก” นั้นที่ทำให้อีกหลายปีต่อมานักข่าวนั้นหาคนขับแท็กซี่จากชื่อนี้ไม่เจอ ซึ่งในเรื่องจริงนั้นคนขับแท็กซี่ชื่อ “คิมซาบก” จริงๆ นั่นแหละ และเค้าก็ไม่ได้ขับแท็กซี่ส่วนบุคคลสีเขียวตามในเรื่อง เค้าเป็นคนขับแท็กซี่ประจำโรงแรมที่ เจอร์เก้น ฮินซ์ปีเตอร์ อาศัยอยู่และรถแท็กซี่คันจริงนั้นสีดำ และชีวิตจริงนั้นเขาสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างดี รวมถึงสนใจการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของผู้ชุมนุม เป็นคนถ่ายทอดเรื่องราวหลายๆ อย่างให้แก่ฮินซ์ปีเตอร์อีกด้วย ร่วมงานกันมาอย่างน้อยๆ ไม่ต่ำกว่า 5 ปี ส่วนเหตุการณ์ไล่ล่าท้ายๆ เรื่องนั้นไม่เคยเกิดขึ้น เค้ารอดผ่านด่านมาได้ด้วยการบอกว่ามาทำธุรกิจแค่นั้น และเจอร์เก้น ฮินซ์ปีเตอร์ ไม่ได้เป็นนักข่าวต่างชาติเพียงคนเดียวตามในเรื่อง

การที่ เจอร์เก้น ฮินซ์ปีเตอร์ พยายามตามหามิตรชาวเกาหลีคนนี้ แต่ก็ไม่สามารถเจอได้นั้น ก็เนื่องจากว่า คิมนั้นได้เสียชีวิตลงไปหลังจากเหตุการณ์ที่ควังจู 4 ปี (1984) ด้วยเหตุดื่มหนักมากเพราะผลกระทบหลังเหตุการณ์ดังกล่าว สุดท้ายมะเร็งตับก็ได้คร่าชีวิตเค้าไปตอนอายุ 54 ปี

แต่เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้โด่งดังในปี 2017 ทำให้การตามหาคิมซาบกนั้นง่ายขึ้นมา โดยลูกชายของเค้า “คิมซึงพลี” ได้ทวิตข้อความพร้อมรูปถ่ายพ่อของเค้ากับฮินซ์ปีเตอร์ ซึ่งภายหลังได้ถูกยืนยันว่าคนเดียวกันและเป็นภาพถ่ายจริงๆ จากสถานีโทรทัศน์ ARD ของเยอรมันนี และ ภรรยาของฮินซ์ปีเตอร์

แต่น่าเสียดายช้าไปปีนิดๆ เท่านั้น เพราะ เจอร์เก้น ฮินซ์ปีเตอร์เสียชีวิตไปช่วง 2016 ก่อนที่หนังเรื่องนี้จะโด่งดังจนลูกชายของคิมซาบกออกมาบอกการมีอยู่ของพ่อของเขา

ที่มา : english.hani.co.kr / imdb.com / wikipedia.org 

แสดงความคิดเห็น : Kitchen Rai

Your email address will not be published. Required fields are marked *