ตอนที่ดูซีรี่ย์มาใหม่ แต่เหตุการณ์นั้นอยู่ในช่วงปี 90s คือเรื่อง That ‘90s Show ก็มีตัวละครนึง “เกวน” ที่ดูเหมือนสนับสนุนกลุ่ม “Riot Grrrl” โดยแสดงให้เห็นผ่านกำแพงบนห้องนอนของเธอ ที่แปะสติกเกอร์รูปนิ้วกลางเรียงเป็นคำ Riot Grrrl ไว้ นั่นก็เลยเป็นที่มา จะมาเล่าถึงการต่อสู้ของเพศหญิงในอดีต จนมาถึงความเป็น “Woke” อย่างที่พบในเหล่าเฟมทวิต ว่าการต่อสู้เหล่านี้เป็นมายังไงกัน
ขบวนการสตรีสิทธินิยม
ขบวนการสตรีสิทธินิยม (Feminist movements) เป็นพลังสำคัญสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่การรักษาสิทธิสตรีในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ไปจนถึงการต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน ซึ่งการเคลื่อนไหวเหล่านี้มีแสดงให้เห็นถึงก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ในการยกระดับความเท่าเทียมกันทางเพศ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ยังมีอยู่ เช่น การล่วงละเมิดทางเพศและถูกใช้กำลังโดยเพศชาย เป็นต้น
สตรีสิทธินิยมกลุ่มแรก (First Wave Feminism) เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 มุ่งเน้นไปที่เรื่องการรักษาสิทธิทางกฎหมายของผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการลงคะแนนเสียง บุคคลสำคัญในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ได้แก่ ซูซาน บี. แอนโธนี และเอลิซาเบธ เคดี้ สแตนตัน
สตรีสิทธินิยมคลื่นลูกที่สอง (Second Wave Feminism) มาในช่วงยุค 1960s และ 1970s ช่วงนี้มามุ่งเน้นไปที่ประเด็นต่างๆ เช่น สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์, การเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงาน และการแสดงความต้องการทางเพศออกมา(Sexual liberation) บุคคลสำคัญในการเคลื่อนไหวนี้ ได้แก่ กลอเรีย สไตเนมและเบ็ตตี้ ฟรีแดน แต่ขบวนการในช่วงนี้ก็ยังถูกมองว่า เน้นไปที่กลุ่ม ผู้หญิงผิวขาว, ชนชั้นกลาง และเพศหญิงแท้ๆ เท่านั้น
เพื่อตอบสนองต่อคำวิจารณ์เหล่านี้ Riot Grrrl เลยเกิดขึ้นตามมาในช่วงยุค 1990s ในรูปแบบขบวนการเรียกร้องสิทธิสตรีพังก์ (punk feminist movement) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อเรียกร้องและเขย่าโครงสร้างในดนตรี และอื่น ๆ ที่มักมองว่าชายเป็นใหญ่ และสร้างพื้นที่ให้สิทธิ์และเสียงร้องของผู้หญิงนั้นให้ได้รับการรับรู้มากยิ่งขึ้น บุคคลสำคัญในการเคลื่อนไหวนี้ ได้แก่ แคธลีน ฮันนา นักร้องนำวง Bikini Kill และวง Bratmobile จัดคอนเสิร์ต,เวิร์กช็อป, หนังสือทำมือ(Zine) และส่งเสริมแนวทางปฏิบัติ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ๆ
ซึ่งการมาของกลุ่ม Riot Grrrl ทำให้ถูกมองว่าเป็นแรงบันดาลใจให้ สตรีสิทธินิยมคลื่นลูกที่สาม (Third Wave Feminism) เพื่อมาแก้ไขคำวิจารณ์ของสตรีสิทธินิยมคลื่นลูกที่สอง ให้ครอบคลุมได้ทั่วถึงกันมากยิ่งขึ้น เช่น กลุ่มสตรีผิวสี, LGBTQ และสตรีพิการ บุคคลสำคัญในการเคลื่อนไหวนี้ ได้แก่ Rebecca Walker, Audre Lorde และ Kimberlé Crenshaw
จนถึงปัจจุบันนี้ สตรีสิทธินิยมคลื่นลูกที่สี่ (Fourth Wave Feminism) ก็ยังคงต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศ การเคลื่อนไหวมุ่งเน้นไปที่การต่อสู้กับการล่วงละเมิดทางเพศและการถูกทำร้ายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการเคลื่อนไหว #MeToo นอกจากนี้ยังมีจุดมุ่งหมายเพื่อท้าทายความเป็นชายที่มีลักษณะคนเป็นพิษ(Toxic People) และสร้างพื้นที่ให้กับกลุ่มอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายมากขึ้นอย่าง LGBTQ+ บุคคลสำคัญในการเคลื่อนไหวนี้ ได้แก่ ทารานา เบิร์ก ผู้ก่อตั้งขบวนการ #MeToo และ ร็อกแซน เกย์ นักเขียนและนักเคลื่อนไหวที่มีชื่อเสียงคนนึง
แนะนำเพลงจากศิลปินกลุ่ม Riot Grrrl
เมือง Olympia แห่งรัฐ Washington จะว่าไปก็เปรียบเสมือนเมืองหลวงแห่ง Riot Grrrl ก็ว่าได้ หลายๆ วงที่ออกมาเคลื่อนไหวนั้นส่วนใหญ่ก็มาจากเมืองนี้กันทั้งนั้น ได้แก่
Bikini Kill : นำโดย แคธลีน ฮันนา ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ก่อตั้งขบวนการ Riot Grrrl แนวเพลงผสมผสานพังก์ร็อกเข้ากับเนื้อเพลงแบบสตรีนิยม สร้างบรรทัดฐานทางเพศใหม่ และสรรเสริญอำนาจที่มากขึ้นของเหล่าผู้หญิง มีเพลงที่แนะนำที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวคือ Rebel Girl, Feels Blind และ Suck My Left One
Bratmobile: วงที่ทรงอิทธิพลอีกวงหนึ่งในกลุ่ม Riot Grrrl ก่อตั้งขึ้นในปี 1991 เพลงที่มักจะกล่าวถึงประเด็นสตรีนิยม เช่น ภาพลักษณ์ของร่างกาย, การอิสระทางเพศ และความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ (Gender-Based Violence) เพลงที่แนะนำคือ Cool Schmool, Girl Germs และ Eating Toothpaste
Slateter-Kinney: อีกวงที่มีความเกี่ยวข้องกับขบวนการ Riot Grrrl มีบทบาทมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 1990s เพลงผสมผสานไปด้วยเนื้อหาสตรีนิยมที่เข้ากับเสียงที่มีเอกลักษณ์ของนักร้องนำ ส่วนเพลงที่แนะนำได้แก่ Dig Me Out, Modern Girl และ Words and Guitar
Heavens to Betsy: วงนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1991 ที่มักถูกมองว่าเป็นหัวโจกของขบวนการ Riot Grrrl มีเพลงแนะนำที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวได้แก่ Axemen, Terrorist และ My Red Self
วงสุดท้ายแม้ไม่ได้มาจากวอชิงตัน แต่มาจาก แอลเอ, แคลิฟอร์เนีย คือวง L7 แม้ว่าวงนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการ Riot Grrrl แต่ก็เป็นวงพังค์หญิงล้วนที่แมสมากวงนึงในช่วงปี 1990s และเพลงก็กล่าวถึงประเด็นสตรีนิยม เช่น ความรุนแรงทางเพศและการทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุในวัฒนธรรมสมัยนิยม เพลงที่แนะนำคือ Fast and Frightening, Shitlist และ Everglade
Feminist vs Woke vs เฟมทวิต ต่างกันอย่างไร?
ก็สามารถบอกได้ว่า ขบวนการสตรีสิทธินิยมและแนวคิดของ “Woke” นั้นต่างก็เกี่ยวข้องกับความยุติธรรมทางสังคมและความเท่าเทียม แต่จะมาต่างกันก็ตรงที่แนวทางและเป้าหมายนี่แหละ ขบวนการสตรีสิทธินิยมพยายามจัดการกับการเลือกปฏิบัติและความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ แต่ในขณะที่แนวคิดของ “Woke” โดยทั่วไปหมายถึงการตระหนักรู้ (แต่เฟมทวิตจะพูดกันว่า “เอดดุเขต”ให้ความรู้กับคนอื่น) และต่อต้านการกดขี่ในรูปแบบต่างๆ อย่างเข้มข้นขึ้น ที่รวมๆไปถึงการเหยียดเชื้อชาติ, การเหยียดเพศ และอาการเกลียดหรือกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือรักร่วมเพศ(Homophobia) ซึ่งมันเป็นต้นตอของความเกลียดชังนั่นแหละ
อย่างไรก็ตามเหล่า Woke ก็ยังวิจารณ์และแย้งแนวคิดนี้ว่าขาดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม และในบางครั้งการมักจะถูกมองในแง่ลบ เช่น หมกหมุ่นที่เป็นเหล่าคนดีย์(virtue signaling) รวมถึงมีแนวโน้มนำไปสู่วัฒนธรรมแห่งการแบน (cancel culture) ซึ่งมักส่งผลทางสังคมและเศรษฐกิจตามมา บางทีเราอาจจะรู้สึกถึง “เกินไปป่าว” ของการกระทำเหล่านี้ ที่ไม่ให้โอกาศสำหรับการเติบโต, การเรียนรู้ หรือการไถ่บาป ของคนที่ทำผิดพลาดไป ดูใจดำและยังไม่หวังดี ต่างจากพี่เสือ-ธนพล ร้องในเพลง “รักยังคงไม่พอ” ที่ร้องว่า “ดูใจดำแต่ฉันหวังดี”
และในกระแสโลกโซเชี่ยลในไทย “เฟมทวิต” นั้น ดูแสดงออกไปทางด้านลบของ Woke โดยใช้ฐานการความคิดของสตรีสิทธินิยม ที่แสดงออกแบบสุดโต่งเกินไปในบางครั้ง การเคลื่อนไหวในโซเชี่ยลส่วนใหญ่ที่เห็นก็ดูคล้ายเพื่อที่จะแซะและเอาแต่ใจ มากกว่าต้องการแก้ปัญหาอย่างกลุ่มขบวนการสตรีสิทธินิยมที่ทำออกมาจริงๆ
ที่มา :
https://www.bangkokbiznews.com/news/860931
https://www.haveyouheard.live/discover/riot-grrrl
https://themomentum.co/wordodyssey-moralsuperiority/
https://www.bbc.com/thai/international-53153218
https://www.thaiconsent.in.th/power/femtwitinyourarea/
อยากจะเขียนอะไรก็เขียนอ่ะครับ แต่ถ้าเขียนผิดหรือตกหล่นไปก็ขออภัยล่วงหน้านะครับ